สติและปัญญา

สติและปัญญา

รากฐานของจิต มันมี 2 นัย คือ นัยแห่งสติ และนัยแห่งปัญญา

  1. สติ คือ การรู้เท่าทันกายใจของตน
  2. ปัญญา คือ ความเข้าใจโลกตามความเป็นจริง ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ

สองสิ่งนี้เมื่อประกอบกัน จิตจะเป็นสุข เบิกบาน และอิสระ ควรค่าแก่งานสร้างสรรทั้งปวง

ฟากสติ เราฝึกหัดได้ด้วยการฝึกสติทั้งสาม

ส่วนฟากปัญญา เราพัฒนาได้ด้วยการ คิดดี ทำดี พูดดี เจริญกุศลให้มาก และเรียนรู้สังเกตความจริงของรูปนามอยู่เสมอ

การคิดดี ทำดี พูดดีนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณอย่างยิ่ง
นอกจากมันจะทำให้เกิดสิ่งดีๆแก่ผู้อื่นและสังคมแล้ว
มันยังจะทำให้จิตของเราพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

จิตที่ประกอบคุณความดี จะเบา เบิกบาน และเป็นสุขอันละเอียด ซึ่งเป็นรากฐานของการหลุดพ้น

หากเราคิดดีอยู่เสมอ (บนรากฐานแห่งความเป็นจริง) จิตจะมีความเคยชินกับอาการของตัวมันเอง ซึ่งมันจะนำไปสู่ความรู้แจ้งหลุดพ้นในที่สุด

แต่ต้องไม่ลืมว่า
อย่าได้เผลอสร้างทิฐิทั้งสามให้เกิดขึ้น เมื่อเราประกอบคุณความดีนั้น
ซึ่งทิฐิทั้งสามนั้นคือ

  1. สิ่งที่เราคิด พูด หรือ ทำนั้น มันดีจริงๆ
  2. เราเป็นผู้กระทำสิ่งดีๆนั้น
  3. และ เราดี

คิดดีคืออะไร?

คิดดี มีสองนัย คือ

  1. คิดหรือมองปรากฏการณ์นั้นๆในแง่ที่เกิดประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
    ประโยชน์ตนคือไม่สร้างทุกข์ ปล่อยวาง อิสระ
    ประโยชน์ท่านต้องประกอบด้วยความรักความเมตตาเป็นพื้นฐาน
  2. ตรงตามสภาพความเป็นจริง ไม่ใช่ผิดเพี้ยน บิดเบือน ฟุ้งปรุงเอาเอง

ความคิด การให้ค่า ให้ความหมาย ล้วนเป็นการปรุงแต่ง เป็นฟากโลกิยะทั้งสิ้น ซึ่งโดยปรมัตถ์แล้วมันว่างเปล่า ยึดอะไรไม่ได้

โลกิยะ มันเป็นธรรมคู่ มันย่อมมีสองด้านเสมอ มันจึงขึ้นอยู่ที่จิตของเราจะฉลาดสร้างสุขให้กับตน หรือสร้างทุกข์ให้เกิดมากกว่า

ดังนั้น จงหัดคิด หัดมองในแง่ดีๆ กันเถิด แล้วมันจะนำพาเราไปสู่ความหลุดพ้นในที่สุด

ขอให้หมั่นเพียรกันให้มากเถิด อย่าปล่อยให้เวลามันผ่านไปอย่างไร้สาระเลย

 

เจริญธรรม

อาจารย์หมอ

Comments are closed.