ข้อพึงละเว้นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม

ข้อพึงละเว้นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม

ข้อพึงละเว้นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ณ สวนธรรมะโพธิญาณ

ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนพึงพยายามมีสติรู้เท่าทัน และละเว้นเสียซึ่งอกุศลกรรมทาง กาย วาจา ใจ อันจะเป็นอุปสรรครบกวนจิตใจ และขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ทั้ง 57 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. การคิดมุ่งร้าย หรือการคิดไม่ดีต่อผู้อื่น
  2. ความพยาบาท อาฆาตแค้นผู้อื่น
  3. การปกปิดซ่อนเร้นความไม่ดีของตน
  4. ความประสงค์ร้าย หรือเกลียดชัง
  5. การเสแสร้ง แกล้งทำอำพราง หลอกลวง
  6. การใช้กลอุบายหลอกลวง คดโกง หรือความไม่ซื่อตรง
  7. การอิจฉา ริษยา เมื่อผู้อื่นกระทำคุณความดี
  8. ความตระหนี่ถี่เหนียว ไม่กล้าที่จะให้
  9. ความไม่รู้จักละอาย เมื่อกระทำสิ่งไม่ดี ไม่สมควร
  10. ความไม่รู้จักเกรงกลัว เมื่อกระทำสิ่งไม่ดี ไม่สมควร
  11. การหลงตน ลำพองตน เห็นว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น
  12. ความพยายามกระทำในเรื่องที่ผิด ด้วยความมุ่งร้าย คิดร้าย
  13. ความเย่อหยิ่งยโส จองหอง อวดดี
  14. ความไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวัง
  15. ความหลงตนทั้ง 7 แบบ ได้แก่
    1. หลงในความเป็นตนเอง คือหลงคิดว่าตน แย่กว่าผู้ที่แย่ เสมอกับผู้ที่เสมอกัน หรือดีกว่าหรือเสมอกับผู้ที่แย่
    2. ทะนงตน หลงคิดว่าตน เท่าเทียมกับผู้ที่ดีกว่าตน
    3. ทะนงตน หลงคิดว่าตนสูงกว่า ผู้ที่สูงกว่าตน เป็นความหลงตนที่ยิ่งกว่าความหลงตนใดๆ
    4. หลงตน ยึดมั่นในความเป็นตัวตนของตน
    5. หลงตนโดยความเพ้อฝัน คือหลงคิดว่าตนได้รับมรรคผล ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุผลใดๆ
    6. หลงตนอยู่ในความผิดพลาด ปฏิเสธการแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง
    7. หลงว่าตนต้อยต่ำ คือดูถูกตนเอง หลงคิดว่าตนแย่ เกลียดตัวเอง
  16. การแสร้งทำ ด้วยการควบคุมความรู้สึกของตนเพื่อลาภ สักการะ
  17. การพูดยกยอ สอพลอ ทำให้ผู้อื่นพึงพอใจเพื่อลาภ สักการะ
  18. การชมเชยทรัพย์สมบัติของผู้อื่น เพื่อให้ได้มาเป็นของตน
  19. การเยาะเย้ย ถากถางผู้อื่น เพื่อให้ได้ผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่ตน
  20. การยกยอ ยกย่องชมเชยการได้มาซึ่งผลประโยชน์ในครั้งก่อนๆ เพราะความอยากได้ ผลประโยชน์ในครั้งใหม่
  21. การตอกย้ำความผิดของผู้อื่น ด้วยการพูดถึงความผิดของผู้นั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยจิตที่มุ่งร้าย
  22. ความไม่เกรงใจ การทำให้ผู้อื่นลำบากโดยไม่สนใจว่าจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอย่างไร
  23. ความยึดติด หรือการยึดมั่นในนิสัยไม่ดีของตนเอง เพราะเกียจคร้านที่จะพัฒนา
  24. การเลือกที่รักมักที่ชัง หรือการหลงเลือก แยกแยะสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่โลภ โกรธ หลง
  25. การไม่รู้จักดูจิตใจของตน รวมถึงการไม่ใช้ใจกับสิ่งต่างๆ และการไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา
  26. ความเสื่อมถอยของการศรัทธาในการปฏิบัติ เนื่องมาจากความเกียจคร้าน
  27. การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่แสร้งทำเป็นว่า รู้ทางไปสู่มรรคผล
  28. ความกระหายต้องการ หรืออาการยึดติดพัวพันของใจอย่างอ่อน อันเกิดจากราคะตัณหา
  29. การถูกครอบงำจิตใจ หรืออาการยึดติดพัวพันของใจอย่างรุนแรง อันเกิดจากราคะตัณหา
  30. ความหวงของ หรือการยึดติดในทรัพย์สมบัติ สิ่งของ ของตนอย่างเหนียวแน่น
  31. ความละโมบอันไม่เหมาะสม หรือการยึดติดในทรัพย์สมบัติ สิ่งของ ของผู้อื่น
  32. ความมักมากในกาม ด้วยการกล่าวชื่นชมผู้อื่นด้วยจิตที่เต็มไปด้วยความกำหนัด
  33. การประพฤติตนหลอกลวง โดยการเสแสร้งเป็นคนดี ทั้งที่ตนยังบกพร่องอยู่ ด้วยความปรารถนาชั่วภายใน
  34. ความละโมบโลภมาก หรือความอยากได้มากอย่างไม่รู้จักพอ
  35. ความละโมบในผลประโยชน์ คือการแสวงหา อยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี โดยไม่เกี่ยงวิธีการ
  36. การขาดความอดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก
  37. การทำตนไม่เหมาะสม คือไม่ให้ความเคารพต่อการกระทำของครูบาอาจารย์
  38. การเป็นคนดื้อรั้น ไม่ฟังคำแนะนำ หรือไม่ให้ความเคารพต่อคำแนะนำของครูบาอาจารย์
  39. การคลุกคลีกับญาติมิตร หรือความยึดติดในอารมณ์อันละเอียดอ่อน ที่ยังมีต่อญาติมิตร
  40. การยึดติดในวัตถุ หรือการผูกพันในข้อดีต่างๆของมัน จนอยากได้มาเป็นเจ้าของ
  41. การเพ้อฝันในชีวิตนิรันดร หรือการเพิกเฉย ไม่สนใจ ต่อเรื่องความตาย
  42. ความหลงพึงพอใจตนเอง หลงคิดว่าตนมีคุณสมบัติที่ดี จึงได้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ
  43. การช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยจุดประสงค์เพราะความต้องการอยากได้ ทางโลก ของตน
  44. การไม่ช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยจิตที่มุ่งร้าย หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
  45. ความไม่ชอบใจ มีจิตที่หวั่นไหวต่อการกระทบ
  46. ความปรารถนา มักมากทางเพศ อันไม่เหมาะสมกับ กาลเทศะ บุคคล และ ตนเอง
  47. ความเฉยเมย มีจิตที่เกียจคร้าน ไม่สนใจสิ่งใด
  48. การแสดงออกทางกาย ด้วยสีหน้า ท่าทาง ที่ไม่ดีต่อผู้อื่น อันเนื่องมาจากอารมณ์ด้านลบ
  49. การกินมากเกินควร จนเกียจคร้าน และ เฉื่อยชา
  50. การมีจิตใจหวาดกลัว อ่อนแอ ขี้ขลาด หดหู่หมดกำลังใจ
  51. การดิ้นรนแสวงหาไปในโลกธรรม ทำให้มีความปรารถนาต้องการอยู่เสมอ
  52. ความพยาบาท มุ่งร้ายต่อผู้อื่น มีความกระวนกระวายใจเกี่ยวกับตนเอง มิตร ศัตรู ทั้งในเรื่องอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต
  53. ความเกียจคร้าน ทื่อทึบ เนื่องเพราะกายหนัก จิตหนัก
  54. ความเฉื่อยชา ง่วงเหงา เซื่องซึม ไม่กระฉับกระเฉง อยากแต่นอน
  55. ความตื่นเต้น กระสับกระส่ายอย่างรุนแรงของกาย และจิต
  56. ความหดหู่เศร้าใจ ในความผิดหรือการกระทำไม่ดีของตน
  57. ความสงสัยลังเล สับสน ขัดแย้งภายใน เกี่ยวกับสัจธรรม และพระรัตนตรัย

 

“โพธิสัตว์ผู้ยังครองเรือน พึงกำหนดละเว้นสิ่งเหล่านี้ ส่วนโพธิสัตว์ผู้ถือพรหมจรรย์ ก็พึงกำหนดละเว้นให้มากยิ่งขึ้น หากปราศจากสิ่งบกพร่องเหล่านี้ ก็จะบังเกิดกุศลอันยิ่ง”

(แก่นธรรมจากรัตนวลี)