ศีลอุบาสก และอุบาสิกา

ศีลอุบาสก และอุบาสิกา

อุบาสกและอุบาสิกา พึงเป็นผู้สำรวม และตระหนักอยู่เสมอว่า บัดนี้เราเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า เรามาอยู่ในที่แห่งนี้เพื่อศึกษาปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ พึงเป็นผู้สังวรระวังกาย วาจา ใจ พูดน้อย กินน้อย นอนน้อย ใช้เวลาปฏิบัติให้มาก และพึงรักษาศีลดังต่อไปนี้ โดยเคร่งครัด

ความผิดร้ายแรง

ผู้ละเมิดกระทำความผิดดังนี้ ต้องออกจากสวนธรรมฯ

  • เสพเมถุน
  • ลักขโมย
  • วิวาทกันจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย

ความผิดเบา

ผู้ละเมิดกระทำความผิดดังนี้ ต้องสำนึกผิดต่อท่านอาจารย์ และรับการพิจารณาโทษตามความเหมาะสม

  • ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและข้อปฏิบัติของสวนธรรมฯ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เดือดร้อน วุ่นวายแก่ผู้ร่วมปฏิบัติธรรม
  • ว่ายาก สอนยาก ดื้อรั้น เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรม ห้ามไม่ฟัง
  • โกรธเคืองผู้อื่น แกล้งทำเรื่องกล่าวหา ให้ร้าย หรือ ยุยงให้เกิดความแตกแยก
  • พูดปด พูดหยาบคาย พูดส่อเสียด พูดด่ากัน
  • ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เกียจคร้านการงาน กินแรงผู้อื่นเป็นประจำ
  • ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
  • เล่นการพนัน
  • ดื่มสุรา หรือ ของมึนเมา
  • แกล้งฆ่าสัตว์โดยเจตนา
  • ดูหนัง ฟังเพลง หรือ ร้องรำทำเพลง อันเป็นข้าศึกต่อกุศล
  • นอนบนที่นอนสูง ที่นอนใหญ่
  • ตกแต่ง เสริมสวยด้วยเครื่องสำอาง
  • ใช้ของส่วนกลางแล้วไม่เก็บที่
  • ส่งเสียงดังรบกวนความสงบของสถานที่

มารยาทขณะที่อยู่ในสวนธรรมฯ

  1. ควรสำรวมระวังตนอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรคลุกคลี พูดคุย หยอกล้อ หรือส่งเสียงดัง
  2. ควรสำรวมกิริยาในสถานที่สาธารณะที่ผู้คนผ่านไปมาอยู่เป็นประจำ  เช่น ศาลาธรรม ลานธรรม แคนทีน ฯลฯ  ไม่ควรแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมกับนักปฏิบัติ เช่น นอน  ร้องรำทำเพลง  ทะเลาะโต้เถียงกัน ฯลฯ
  3. ในเวลารับประทานอาหาร หรือ ดื่มน้ำปานะ หรือ ในเวลาพัก ควรดำรงตนอยู่ด้วยความสำรวม อย่าส่งเสียงดัง  กรี๊ดกร๊าด  หรือหัวเราะเสียงดังจนเกินเหตุ
  4. ควรมีสติสำรวมระวังให้มาก พยายามอย่าให้เกิดเสียงดัง ในขณะเลื่อนเก็บเก้าอี้, เก็บจานชาม, เปิด/ปิดประตู หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  5. ในขณะฟังธรรม หรือปฎิบัติธรรมร่วมกัน ควรสำรวมตนด้วยความเคารพ
    • ไม่ควรนั่งชันเข่า นั่งกอดเข่า
    • ไม่ควรเหยียดขา เหยียดแขน  หรือทำท่าทางประหลาดๆ อันไม่เหมาะสม
    • ไม่ควรทำกิริยาหรือทำเสียงรบกวนผู้อื่น  เช่น ขยับไปขยับมา ลุกๆนั่งๆ  พัด  เรอ  ฯลฯ
  6. ไม่ควรว่ากล่าวตักเตือนกันเอง ยกเว้นได้ปวารณากันไว้เป็นการส่วนตัว แต่ต้องดูความเหมาะสม
  7. ถ้าไม่มีความจำเป็น ไม่ควรเข้าไปวุ่นวายในห้องครัว โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน  สำหรับผู้ที่ช่วยงาน เช่น ล้างผัก ปอกผลไม้ ล้างจาน ฯลฯ ควรช่วยอยู่รอบนอก และควรกระทำด้วยความสำรวม ไม่พูดคุย หรือส่งเสียงดัง แต่ให้เฝ้าระวังรักษาใจตนอยู่เสมอ
  8. เวลาเดินสวนกันตามทางเดิน ควรแสดงความเคารพต่อกันและกัน  หยุดให้ผู้ที่มีศีลหรืออาวุโสกว่า เดินไปก่อน

ทั้งนี้ ท่านอาจารย์ได้มอบหมายให้ แม่ชีรับผิดชอบในการแนะนำตักเตือนผู้เข้าปฏิบัติธรรมได้ ในกรณีที่เห็นว่ามีการปฎิบัติตนไม่เหมาะสม

มารยาทต่อท่านอาจารย์

  1. พึงนุ่งห่มแต่งกายให้เรียบร้อย
  2. พึงพูดจาด้วย วาจาที่สุภาพ และเคารพ
  3. ไม่ส่งเสียงดังเกินงาม
  4. ไม่เจ้ากี้เจ้าการ กำกับผู้อื่นในการจัดทำอาหารให้ท่านอาจารย์
  5. ไม่รบกวนเวลาท่านโดยไม่จำเป็น

มารยาทในการรับประทานอาหาร

  1. เราจะรับประทานอาหารด้วยความเคารพ
  2. เราจะรับอาหารโดยพอสมควร
  3. เราจะไม่ละโมบ ในการรับประทาน
  4. เราจะไม่วุ่นวาย มากเรื่อง ในเรื่องอาหาร
  5. เราจะไม่ดูจานผู้อื่น ด้วยคิดจะเพ่งโทษ
  6. เราจะไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก
  7. เราจะทำคำข้าวให้กลมกล่อม
  8. เมื่อข้าวยังไม่ถึงปาก เราจะไม่อ้าปากไว้ท่า
  9. เมื่อรับประทานอยู่ เราจะไม่เอานิ้วสอดเข้าปาก
  10. เมื่ออาหารอยู่ในปาก เราจะไม่พูด
  11. เราจะไม่รับประทานจนกระพุ้งแก้มตุ่ย
  12. เราจะไม่รับประทานหกเรี่ยราด
  13. เราจะไม่แลบลิ้น
  14. เราจะไม่รับประทานเสียงดัง และไม่ควรให้ช้อนครูดชามจนเกิดเสียงดัง
  15. เราจะไม่เลียมือ หรือ ริมฝีปาก
  16. เราจะไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ