การจัดการกับโมหะ

การจัดการกับโมหะ

ปัจจุบันโมหะเป็นกิเลสที่ผมพบบ่อยที่สุดเกิดขึ้นนาทีละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย เนื่องจากเกิดถี่มากการพิจารณาสภาวะนั้นโดยใช้ธรรมคู่จึงไม่ practical จึงใช้วิธีรู้เอาว่าเผลอไปคิด หรือเผลอไปเหม่อทุกครั้ง ทันทีที่เผลอไปแล้วมีสติระลึกรู้ขึ้นมาทันที แต่ก็ไม่เกิดปัญญามากนัก นอกจากทราบว่าโมหะเกิดแล้วก็ดับตามกำลังสติที่อ่อนลงและวิบากที่เจอในขณะนั้น ถึงจะรู้แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ จึงอยากขอคำแนะนำในการดูโมหะให้เกิดปัญญา


 ปัญญาแห่งธรรมคู่ เป็นปัญญาที่ใช้เพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความเอนเอียงที่เข้าไปจมแช่ในข้างใดข้างหนึ่งของการปรุงแต่ง จะเห็นได้ง่ายในระดับหยาบๆที่เราให้คุณค่าความหมาย เช่น สั้นยาว กว้างแคบ สว่างมืด ดีไม่ดี ถูกผิด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการปรุงแต่งระดับสมอง จึงทำความเข้าใจได้ด้วยการคิดพิจารณาแบบที่เราเคยชินในวิสัยโลกๆ

มันจึงเป็นพื้นฐานที่เราต้องฝึกให้มาก เพื่อเกิดความเข้าใจลีลาของกิเลสที่มันลวงหลอกจิต แต่ธรรมคู่มิได้มีเพียงเท่านั้น มันยังมีละเอียดลงไปเรื่อยๆจนที่สุดถึงตัวต้นเหตุของสังสารวัฏเลย ซึ่งมันจะซ้อนกันอยู่อย่างซับซ้อน แต่เราไม่รู้เท่าทันมัน เพราะกำลังเรายังไม่พอ เราจึงต้องหมั่นฝึกฝนตั้งแต่หยาบไปก่อนเรื่อยๆ และมันก็แบบเดียวกันกับธรรมทุกชนิด สิ่งที่หยาบ เราก็ใช้การคิดพิจารณาได้ แต่พอละเอียดเข้าไป ต้องใช้การพินิจพิจารณา คือเรียนรู้ ดูด้วยตาปัญญาเป็นหลัก แต่การเรียนรู้ดูภายในก็ไม่ใช่การสอดส่องมองหา เพื่อให้รู้ เพื่อให้ได้อะไรสักอย่าง นั่นมันเป็นตัณหา ซึ่งเช่นนั้น มันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ และนี่ล่ะคือปัญหาสำคัญในปัจจุบันนี้

นักปฏิบัติส่วนมาก ศึกษาอ่านมามาก เรียนรู้กันมามาก สัญญาจำมันมากเกินไป เลยอยากรู้อยากเห็น อยากได้ ดี มี เป็น ก็เลยต้องตกร่องของตัณหา ซึ่งก็คือความหลงโดยไม่รู้ตัว อย่างที่พูดเสมอว่า มันหลงโดยไม่รู้ว่าตนหลงนั่นล่ะ

แม้ในสติปัฏฐานสี่ จะบอกว่าให้เรียนรู้ดูจิตอย่างนั้นอย่างนี้ มากมาย นั่นก็ไม่ใช่การที่เราจะต้องไปมองหามัน หรือคอยกำหนดจดจ้องมัน ไม่ใช่การที่เราจะต้องรู้ให้ได้ไปเสียทุกสิ่ง หากคิดเช่นนั้น นั้นก็ความหลงอีก แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมาย ความว่าให้ไม่สนใจที่จะเรียนรู้อีก เพราะทั้ง ต้องรู้ให้ได้ และไม่สนใจจะรู้ ก็เป็นธรรมคู่ทั้งนั้น ซึ่งมันเป็นผลจากความหลงอีกเช่นกัน

ที่ท่านกล่าวถึงจิตมีโลภะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตหดหู่ ฯลฯ นั่นท่านให้เรารู้จักตามความเป็นจริงที่มันปรากฏ ทำความเข้าใจในตัวมัน สังเกตเรียนรู้มัน แล้วก็ยอมรับธรรมชาติของมันตามที่มันเป็นอยู่ของมัน

ไม่ใช่เราจะต้องไปกระทำอะไรกับมัน หรือ ไปแทรกแซง (Interfere) มัน และที่สำคัญคือ เมื่อรู้แล้วก็ทิ้งซะ ทิ้งความรู้ที่เกิดนั่นล่ะ ให้ทุกสิ่งมันใหม่เสมอไม่ต้องไปเก็บความรู้เก่าให้มันคั่งค้าง

ผู้ฉลาดย่อมไม่หลงว่าตนฉลาด ผู้รู้จริงย่อมไม่หลงว่าตนรู้ ผู้หลุดพ้นย่อมไม่หลงว่าตนหลุดพ้น มันจึงไม่ต้องสนใจที่จะสะสมสิ่งที่รู้ไว้ แค่รู้ และยอมรับให้ได้ในทุกธรรมชาติตามที่มันปรากฏเท่านั้น

เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญของมหาสติปัฏฐานสี่ คือ ท่านต้องการให้เรา มองตนเอง เรียนรู้ธรรมชาติของตัวเราเอง เข้าใจ และยอมรับมัน เมื่อเราเรียนรู้ตัวเราเอง มองตัวเราเองอย่างถูกวิธีเช่นนี้ นั่นแหละเรากำลังวางตัวเราเอง เรากำลังเป็นอิสระ

นิ้วที่ชี้ไปดวงดาว ไม่ใช่ดวงดาว สิ่งที่ท่านบอก มันเป็นกุศโลบายให้เราแจ้งในสิ่งที่ท่านต้องการให้เราแจ้ง แต่มันก็ไม่ใช่ตัวสิ่งนั้น แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าสิ่งนั้นมันไม่มีภาษาหรือสมมุติใดที่จะให้เรารู้ได้ นอกจากการใช้กุศโลบายเท่านั้น

เมื่อมันไม่มีสมมุติ มันนอกเหนือภาษา มันจึงใช้แนวทางแบบโลกๆ ไม่ได้ แต่คนเราก็เคยชินอยู่แต่กับแนวทางการเรียนรู้แบบโลกๆ มันจึงไม่สามารถที่จะเข้าไปแจ้งในสิ่งนั้นได้ง่ายนัก

แต่หากไม่อธิบายด้วยแนวทางแบบโลกๆ ก็ไม่รู้จะสื่อกันอย่างไร แต่เมื่อสื่อกันแบบโลกๆ ก็กลับทำให้ไปเข้าใจในแบบโลกๆ อีก มันจึงไม่สามารถเข้าใจมันได้จริง ก็เลยไม่สามารถแจ้งต่อสิ่งๆ นั้นได้อีกเช่นกัน

นี่ล่ะปัญหาที่น่าเวียนหัวในการถ่ายทอดธรรมะ เพราะจริงๆแล้วการถ่ายทอดธรรมะที่แท้จริงจะเกิดจากจิตสู่จิตเท่านั้น มิได้เกิดจากคำพูดหรือภาษาเลย

ถึงพูดเสมอว่า ท่านพูดไม่ผิด แต่เราฟังไม่ถูก

และทั้งหมดมันก็เกิดมาจากจิตที่มีโมหะนั่นล่ะ เพราะฉะนั้น ในโมหะจิตมันจึงมีหลายระดับมากมาย จากหยาบๆ ที่เรารู้จักกันในลักษณะจิตที่สงสัย ลังเล วิตกกังวล ไปจนถึงจิตที่หลงจมแช่กับอารมณ์ ลงไปเรื่อยๆจนถึงหลงอัตตาตัวตนนั่นล่ะ

ของแบบนี้มันไม่เหมือนที่เขียนในหนังสือหรอก มันซ้อนกันอยู่ เพราะมันเป็นการปรุงแต่งที่ซับซ้อนเหมือนกองฟางนั่นล่ะ

ดังนั้นการที่เราจะเห็นมันได้ก็ด้วยตาปัญญาเท่านั้น ซึ่งก็หมายถึง พลังสติ สมาธิ ปัญญาที่สมดุลนั่นเอง มันจึงต้องใช้อุบายในการช่วยสร้างความพร้อมให้เรา ซึ่งเราต้องฝึกฝนให้มาก ใช้ Means หรือ กุศโลบายที่ถูกต้อง อีกหน่อยกำลังเราเข้มแข็งมันก็จะค่อยๆแจ้งประจักษ์เอง ซึ่งกุศโลบายที่แนะนำอยู่เสมอก็คือ การเจริญบารมี 6 หรือ บารมี10 หรือ จะเป็น มรรค 8 + เมตตา+ขันติ นั่นล่ะ ทำให้มาก ทำให้ครบทุกตัว แล้ว มันจะมีผลให้เราหมดสิ้นความหลงเอง

จงอย่าได้มองแบบแยกส่วน อย่าได้มองสิ่งทั้งหลายเป็นเอกเทศ
ทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง มันเป็นเหตุปัจจัยอันซับซ้อนกันอยู่

ถึงบอกว่ามันยิ่งกว่า Global network อีก เราต้องมองมันในแบบ Holistic way ถึงจะเข้าใจตามความเป็นจริงได้ การมองแบบแยกส่วนเป็นเอกเทศนั้นเป็นวิสัยของอัตตาที่สร้างขอบเขตลวงหรอกเราไว้ ซึ่งก็คือวิสัยของโลก ของตัณหา มันจึงทำให้เราไม่สามารถรู้แจ้งตามความเป็นจริงได้

ในการเรียนรู้โมหะนั้น ในความหลงตัวหยาบๆ เราก็ใช้หลักการเดียวกันกับความโกรธ คือ พิจารณาให้เห็นว่าเรายึดติดอะไรภายนอก เราหลงธรรมคู่ข้อใด, พิจารณาให้เห็นโทษของอารมณ์นั้น และพิจารณาเรียนรู้ดูธรรมชาติของอารมณ์นั้น

ส่วนในตัวละเอียด โดยเฉพาะละเอียดมากๆ เราจะใช้เพียงการเรียนรู้ดูให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของมันเท่านั้น แล้วปัญญาที่เราฝึกพิจารณาธรรมคู่อย่างหยาบมาบ่อยๆ จะมีผลให้เราสามารถแยกแยะ(Discriminate) ความเป็นคู่ของมันได้ถูกต้องเอง

ซึ่งในขั้นนี้ มันมิได้ใช้การคิดเลย เพราะการคิดมันหยาบ มันจะไปบังธรรมชาติของธรรมนั้นเสียหมด ทำให้เราไม่สามารถรู้จักมันตามความเป็นจริงได้

แต่หากเราไม่เคยฝึกฝนพิจารณาแยกแยะในขั้นหยาบๆมาก่อน พอมาละเอียดเราก็จะงง แยกแยะอะไรไม่ออก ขาดความแยบคาย จึงไม่สามารถจะเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของมันได้อีกเช่นกัน

ถึงบอกว่านิ้วที่ชี้ไปดวงดาวไม่ใช่ดวงดาว
กิเลสหยาบเช่น เราหลง สงสัย หรือ กังวล หรือ หลงแช่ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ เราก็ต้องนำ Object ที่เราหลงมาพิจารณาให้แจ้งชัดว่าเรายึดติดธรรมคู่ข้างใดถึงทำให้เราหลงวนอยู่ในสิ่งนั้น มองด้านตรงข้ามเพื่อให้เราเห็นตามความเป็นจริงจนจิตมันยอมและคลายตัวออกมา

จากมุมอับนั้น หากเราหลงอยู่ในลบก็ต้องมองบวก
หากเราหลงบวกก็ต้องมองด้านลบ เมื่อจิตคลาย จิตจะเริ่มสงบขึ้น เราก็อาจจะสังเกตเรียนรู้ดูธรรมชาติของมันต่อ

เพราะแม้จิตจะคลายออกมันก็ยังอาจมี Rebound เป็นระลอกคลื่นเบาๆ ตามมาได้
ซึ่งเราสามารถใช้โอกาสตรงนี้พิจารณาให้เห็นธรรมชาติของมันได้เป็นอย่างดี

ถึงพูดอยู่เสมอว่า ใช้ความคิดแก้ความคิด ให้จิตไม่กวัดแกว่ง แล้วจึงเรียนรู้เพื่อวางความคิดต่อไป

ส่วนในเรื่องละเอียด (หรือเรื่องหยาบบางเรื่องที่ไม่ใช่เป็นร่องของเรา) เราอาจไม่ต้องพิจารณาธรรมคู่ แต่จะเรียนรู้ดูธรรมชาติของมันไปเลยก็ได้ ไม่ใช่ว่าเราต้องเก็บทุกเม็ด พิจารณาทุกตัว อันนั้น มันตึงไป มันจะฟุ้งซ่าน กลายเป็นตกใต้อำนาจกิเลสตัณหาอีก ให้เอาเรื่องที่สำคัญ เรื่องที่เป็นร่องของเราก่อน อันนี้มันขึ้นอยู่กับไหวพริบของเราแล้ว

สิ่งที่สำคัญอีกอันที่อยากให้เข้าใจก็คือ แม้ว่าเราจะเคยได้รู้มาว่า มหาสติปัฏฐานสี่ ผู้ใดเดินได้สมบูรณ์ผู้นั้นพ้นทุกข์ ใน 7 วันบ้าง 7 เดือนบ้าง หรือ 7 ปีบ้าง ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสนใจแต่การปฏิบัติมหาสติปัฏฐานสี่อย่างเดียว หรือบางคนยิ่งกว่านั้น จะหมายเอาฐานใดฐานหนึ่งฐานเดียวซะอีก อันนี้มันคือวิสัยของตัณหาอัตตา มันเป็นการมองแบบแยกส่วน ซึ่งยากมากที่จะบรรลุเป้าหมายได้

เราต้องเข้าใจเหตุแห่งความสมบูรณ์ของมหาสติปัฏฐานด้วย มันมีอีกมาก เราก็ต้องสร้างเหตุให้พอเพียง มันถึงจะสมบูรณ์ได้ง่าย เรียกว่าดำเนินแบบ องค์รวม ซึ่งนั่นก็คือ บารมี 6/10 หรือ มรรค 8 อันเป็นกุศโลบายที่พระพุทธองค์ได้มอบไว้นั่นล่ะ

คนส่วนมาก ใครจะคิดบ้างว่า การสมบูรณ์ของมหาสติปัฏฐานสี่ จะเกี่ยวข้องกับทาน เกี่ยวกับเมตตา หรือเกี่ยวกับขันติ หรืออื่นๆ แต่จริงๆ มันเกี่ยว และมากเสียด้วย เพราะฉะนั้น บางคนแม้ทำได้สมบูรณ์ยังต้องใช้เวลาตั้ง 7 ปี บางคนแค่ 7 วัน หรือบางคน 10 ปีก็ยังไม่สมบูรณ์เลย ก็เพราะองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องมันแตกต่างกันเช่นนี้ล่ะ

เพราะฉะนั้น อย่าแยกส่วนธรรมะ อย่าคับแคบด้วยอัตตาทิฐิและตัณหา
จงมองให้เห็นภาพรวม และมองให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วการปฏิบัติจะง่ายมาก

จงจำไว้ว่า เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะเอาอะไร
ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อการได้ดีมีเป็นอันใด
แม้จะเป็นการมีสภาวะดีๆ การมีความรู้ความเข้าใจ หรือแม้กระทั่งมีการละกิเลสแล้วก็ตาม
แต่เราปฏิบัติ เพื่อความสลัดคืน ความจางคลาย ความอิสระ
เพื่อความหมดสิ้นแห่งอัตตาตัวตนต่างหาก
เช่นนั้นมันจึงจะพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง

 

เจริญธรรม

อาจารย์หมอ

Comments are closed.