การปฏิบัติต่อครูอาจารย์

การปฏิบัติต่อครูอาจารย์

กรณีอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์รื่นเริง จิตเราจะรื่นเริง ถ้าครูบาอาจารย์ดุ จิตเราจะตกหรือหวั่นไหว ถ้าครูบาอาจารย์สงบ จิตเราจะนิ่ง ถ้าครูบาอาจารย์ไม่สนใจ จิตเราจะกังวลหรือไม่สบายใจ ทราบว่าสาเหตุทั้งหมดเกิดจากจิตเราไม่มั่นคง หวั่นไหว และไปผูกติดกับครูบาอาจารย์ กลัวครูบาอาจารย์จะไม่ชอบและไม่พอใจ ฉะนั้นเราควรจะวางตัว วางกาย และวางใจของเราเอง และปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์อย่างไร?


 เข้าใจถูกแล้วที่ว่า ทั้งหมดมันเป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่นของตัวเราเอง แต่มันเป็นเพียง การเข้าใจยังมิได้เข้าถึง, เข้าสมองแต่ยังไม่เข้าใจ

เพราะเรายึดมั่นถือมั่นในตัวเรา เราจึงยึดมั่นในตัวครูบาอาจารย์ เมื่อยึดมั่นถือมั่นในครูบาอาจารย์ ก็เลยมัวแต่มองท่าน ไม่มองตน มองตอนแรกก็เพียงอยากให้ท่านชื่นชม อยากเป็นคนเก่งในสายตาท่าน เรียกว่า ติดดี และก็พยายามทำดีทุกอย่างเพื่อที่จะให้ท่านเห็นว่า เราดี แต่พอดีไม่ได้ดี ก็เลยชักจะใจไม่ดี พอมองไปมองมาด้วยใจที่ไม่ดี ก็เลยพาลไปเพ่งโทษจับผิดจับถูกท่าน เริ่มต้นก็ดูดีแต่ไปๆ มาๆ ชักไม่ดี สาเหตุใหญ่ก็เพราะ อัตตาตัวตน ที่มันไม่ยอมมองตน

การมองตน พิจารณาตน เตือนตน แก้ไขตน นั่นเป็นกุศลมีแต่ความเจริญ
จนถึงที่สุดหลุดพ้น แต่การมองผู้อื่น เพ่งโทษ หรือเพ่งคุณผู้อื่นก็ตาม
นั่นเป็นทางเสื่อม จะนำมาซึ่งโทษภัย ควรละเสีย
ยิ่งหากผู้อื่นนั้นเป็นครูบาอาจารย์ ยิ่งมีโอกาสเกิดโทษมหันต์

ดังนั้น มันจึงไม่ต้องทำใจใดๆ ไม่ต้องวางใจ หรือวางกายอะไร เพราะหากยังคงยึดใจอยู่เช่นนั้น ก็ย่อมมีใจที่ไม่ดี ซึ่งจะมีผลเป็นกรรมหนักในที่สุด

มันจึงต้องใช้หลักข้อแรกๆ ของวิปัสสนานั่นแหละคือ

มองตน อย่าด่วนสรุป

คนเรา(แม้นักปฏิบัติก็ตาม) ชอบเอาความเห็นของตน ไปเป็นมาตรวัดผู้อื่นอยู่เสมอ ซึ่งเราไม่สามารถจะเข้าใจเขาได้เลยตามความเป็นจริง

เทคนิคของการมองให้เห็นตามความเป็นจริง คือ การมองด้วยใจที่บริสุทธิ์ อย่าเอาถูกเอาผิด อย่ายึดจริง ยึดไม่จริง หรือพูดง่ายๆ อย่าให้ความเห็นต่างๆของเรามาแทรกแซงปรุงแต่ง เรียกว่า เห็นสักว่าเพียงการเห็น ไม่หลงให้คุณค่าความหมาย

เมื่อต้องสัมผัสสัมพันธ์กับผู้อื่น ตานอกมองเขาเพื่อทักทายโอภาปราศรัย แต่ตาในต้องมองตน อย่าให้โจรร้าย คือความคิดปรุงแต่งทั้งหลายของเรา เข้ามาปล้นใจอันบริสุทธิ์ของเราไป นั่นล่ะคือความหมายของคำว่าปล่อยให้การรับรู้ทั้งหลายเป็นไปเองตามธรรมชาติของมัน แต่ภายในคงแจ้งต่อความสงบเย็นของจิตเดิมแท้อยู่ตลอดเวลา

เราพากเพียรฝึกปฏิบัติมาก็เพื่อสิ่งนี้ หากไม่มีสิ่งนี้เราก็ไม่มีทางเห็นตามความเป็นจริงได้ เมื่อไม่เห็นตามความเป็นจริง มันก็ต้องหลงยึดติด และเป็นทุกข์ในที่สุด รวมทั้งก่อกรรมใหม่อีกมากมาย

ส่วนเรื่องการปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มันออกมาจากใจที่กตัญญูรู้คุณ และเคารพนับถือ ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่น

ความกตัญญู เคารพนับถือ เป็นคุณงามความดี ที่เป็นคุณสมบัติรากฐานของวิปัสสนา มันจะนำมาซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตนโดยมิได้หวังผลในสิ่งใด

แต่ความยึดมั่นถือมั่นนั้น แม้จะแสดงออกด้วยความอ่อนน้อม แต่ภายในก็เต็มไปด้วยการหวังผลทั้งสิ้น อย่างน้อยก็อยากให้ท่านพึงพอใจ แต่ส่วนมาก ก็อยากดี อยากเด่น อยากเอาหน้า ซึ่งนั่นแหละเป็นเหตุแห่งความเสื่อมในอนาคต

ดังนั้น เมื่อปฏิบัติกับท่านภายนอก (วจี และ กาย) ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน
ภายในต้องมองตนอยู่เสมอเช่นกัน ให้จิตใจเราบริสุทธิ์ และสงบเย็น
มิได้อยากหรือปรารถนา หรือต้องการ หรือปรุงแต่งอันใด
แต่กระทำออกไปเพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์

โดยสรุป ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เมื่อรู้ว่ามันไม่เป็นประโยชน์ มันไร้สาระ ก็อย่าไปทำ
เมื่อรู้ว่าเป็นประโยชน์ มีสาระ ก็จงทำ
แต่ภายในก็ต้องมองตน คอยรักษาใจอันบริสุทธิ์สงบเย็นไว้
อย่าให้อารมณ์ หรือการปรุงแต่ง อยากได้ กลัวเสีย อยากถูก กลัวผิด
มามีอิทธิพลกับใจตนเด็ดขาด

 

เจริญธรรม

อาจารย์หมอ

Comments are closed.