ความเป็นกลางในการรับรู้

ความเป็นกลางในการรับรู้

“บารดารบอม” ไม่ทราบว่าจะอ่านคำนี้ว่าอย่างไร ไม่แน่ใจว่าพิมพ์ผิดหรือเปล่าคะ ช่วยแนะนำด้วยค่ะ


ชื่อบุคคลนั้นสำคัญไฉน ในการปฏิบัติ เนื้อหาสาระที่สอนสั่งสิ เป็นเรื่องสำคัญ

เขาพิมพ์ผิด? หรือ เราอ่านไม่ออก? เหตุแห่งความคิดทั้งสองนั้นอยู่ต่างกันไกล

หากมองเห็นเหตุที่แท้จริงได้ ย่อมมีผลมากในการปฏิบัติ

ในการรับรู้นั้น (ไม่ว่าจะเป็นทาง ตา หู ฯลฯ) เราจำต้องวางใจให้เป็นกลาง ไม่ให้การปรุงแต่งทั้งหลายมามีอิทธิพลต่อเรา ซึ่งการปรุงแต่งนั้นไม่ว่าจะเป็น ความพอใจไม่พอใจ ความเชื่อไม่เชื่อ ความศรัทธาไม่ศรัทธา ฯลฯ ก็ล้วนมาจากเหตุหลักคืออัตตาทิฐิของเราทั้งสิ้น ซึ่งมันจะทำให้เราไม่สามารถเห็นหรือรับรู้ทุกสิ่งได้ตามสภาพความเป็นจริง

นักปฏิบัติเรามักจะคิดว่า การเห็นตามความเป็นจริงนั้น คือ การเห็นโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นก็จริงอยู่ แต่มันเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น แต่มันต้องหมายถึงการเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง ทั้งความจริงทางสมมติ และ ความจริงทางปรมัตถ์

ดังนั้น มันจึงต้องอาศัยความสงบในการรับรู้เป็นพื้นฐาน ซึ่งความสงบนี้ก็ไม่ได้แปลว่าต้องนั่งสมาธิเข้าฌาน แต่มันหมายถึงใจที่สงบไม่หวั่นไหวและอิสระจากการปรุงแต่งของตนเอง อันได้แก่ อารมณ์ ความคิด ความหมาย คุณค่า และต่างๆที่จิตมันปรุงขึ้นในขณะที่รับรู้นั้น

ดังนั้นการรับรู้ที่จะทำให้เห็นตามเป็นจริงได้ จึงต้องอิสระจากการปรุงแต่ง ปราศจากอิทธิพลแห่งอัตตาและไม่หลงยึดมั่นในสิ่งที่เรารู้นั้น แต่ก็สามารถเลือกเอาสิ่งหรือประเด็นที่เป็นประโยชน์มาใช้ได้ และสามารถละวางสิ่งที่ไร้สาระออกไปได้ด้วย

นี่แหละคือผลแห่งวิปัสสนาที่เราต้องพากเพียรฝึกตนกันให้ดีๆ มิฉะนั้นไม่ว่าจะไปรู้อะไรก็มีแต่เราและของเราไปรู้ ไม่อาจรู้อะไรใหม่ๆ หรือ รู้ความเป็นจริงได้เลย

หมายเหตุ: บารดารบอม ถอดมาจาก Bardarbom

 

เจริญธรรม

อาจารย์หมอ

Comments are closed.