ความเป็นกลางกับการปฎิบัติธรรม
ความเป็นกลางมีความสำคัญต่อการปฎิบัติอย่างไร?
ความเป็นกลางนั่นล่ะคือการปฏิบัติ หากจิตมิได้ดำเนินอยู่บนความเป็นกลาง แสดงว่าจิตนั้นยังไม่เข้าทางแห่งการปฏิบัติที่แท้จริง ซึ่งนั่นหมายความว่าเราย่อมยังไม่อาจพ้นทุกข์ได้ด้วยการดำเนินของเราเช่นนั้น
ความเป็นกลางนั้น นอกเหนือการปรุงแต่ง มันจึงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะพยายามเข้าไปถึงได้ ด้วยการแสวงหา หรือ พยายามให้มันเป็น
ความเป็นกลางนั้นนอกเหนือสมมุติ ซึ่งมิใช่ที่เรามักเข้าใจกันว่า มันเป็นสภาวะที่อยู่ระหว่างสิ่งสองสิ่ง
ความเป็นกลางเป็นผลแห่งการสมดุลกันอย่างพอดีของพลังแห่งสติ สมาธิ ปัญญา ที่ได้อบรมดีแล้ว
ความเป็นกลางนั้นจึงเกิดจากการที่เรามีสติปัญญารู้เท่าทันความเอน หรือ ความปรุงแต่ง ทั้งสองข้างของธรรมคู่
ความเป็นกลางจึงมิได้อยู่ใต้อิทธิพลแห่งความปรุงแต่งใดๆ
ความเป็นกลางจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความอิสระอย่างแท้จริง
ผู้รู้ทั้งหลายจะไม่สรุปว่า ตนอยู่ในความเป็นกลาง เพราะความเป็นกลางมันเป็นสุญญตสภาวะ จึงมิอาจกล่าวได้เช่นนั้น เพียงแต่ตนเห็นและเข้าใจความเซ ความเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นแม้เพียงนิด….เดียว และด้วยพลังของสติสมาธิปัญญา จึงไม่เผลอปล่อยไปตามความเอนนั้น
ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว มิอาจสร้างขึ้น เพียงแต่เราไม่เจริญสิ่งที่มัวหมอง ความบริสุทธิ์เดิมก็ปรากฏ เช่นเดียวกับความเป็นกลาง ความเป็นกลางจึงเป็นผลของปัญญาที่เข้าใจทุกอย่างตามความเป็นจริง มันจึงไม่เอนเอียงเบี่ยงเบนไปจากความบริสุทธิ์ปกติธรรมดาของธรรมชาติเดิมแท้
เราจะคืนสู่ความเป็นกลางได้ ก็เมื่อเราหมั่นเจริญ สติ สมาธิ ปัญญา ในแบบที่ถูกต้อง ไปเรื่อยๆ ซึ่งการเจริญสติปัญญานั้นก็ควรเริ่มจากการพิจารณาธรรมคู่ ตั้งแต่หยาบๆ ไปจนถึงละเอียด เมื่อธรรมคู่ถูกเห็น และเข้าใจตามเป็นจริงจนแจ่มแจ้ง มันจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ไร้ความแตกต่าง ระหว่างทั้งสอง เมื่อแจ้งชัดว่า ทั้งสองก็คือหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวคือทั้งสอง มิได้มีอะไรที่แบ่งแยกแตกต่าง เมื่อนั้นจิตจะเริ่มคืนสู่ความเป็นกลาง
เมื่อเราเริ่มพบความเป็นกลาง ระหว่างคู่หยาบ คู่ใดคู่หนึ่ง จนสังเกตเห็นและแจ้งชัดในจิตที่เป็นกลางนั้น ต่อไปก็จะง่ายที่จะเดินต่อ จากหยาบไปสู่ละเอียดไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด นอกเหนือได้แม้กระทั่ง ความเป็นผู้รู้ และสิ่งถูกรู้ เมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นกลาง จิตจึงเริ่มพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง
อาจารย์หมอ