แบบประเมินตนเอง
ขอยกมาทบทวนอีกทีว่า อะไรคือเครื่องบ่งชี้ถึงผลของการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง
- ความโกรธน้อยลง เห็นความไม่พอใจและละมันได้เร็วขึ้น
- เปิดใจ ยอมรับและเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น ไม่ตัดสินถูกผิด ดีชั่วผู้อื่น
- สนใจที่จะมองความผิดพลาดของตน แต่สนใจที่จะมองข้อดีของผู้อื่น
- เปิดใจรับฟังมากขึ้น เป็นผู้ฟังที่ดีขึ้น ความอยากอวดภูมิรู้ของตนหมดไป
- เป็นคนซื่อตรง ไม่โกหก หลีกเลี่ยงการนินทาว่าร้าย และไม่พูดในเรื่องไร้สาระ
- มีความต้องการความสุขแบบโลกๆ เพื่อตัวเองน้อยลง เพราะเห็นความไร้สาระแก่นสารของโลก แต่เห็นความมีสาระแก่นสารของธรรมมากขึ้น
- มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสุขกับงานที่ตนทำมากขึ้น
- ใช้ทรัพย์สินเงินทองเพื่อประโยชน์ของตนเองน้อยลง แต่กลับเสียสละทุกอย่างของตนให้ผู้อื่นได้มากขึ้น
- สนใจพูดคุยแต่เรื่องราวอันเป็นไปเพื่อการละกิเลส ไม่สนใจในเรื่องราวที่เพิ่มกิเลส
- ไม่จุกจิก จู้จี้ ไม่ขี้บ่น ไม่คิดมาก ไม่สับสนว้าวุ่น ไม่น้อยอกน้อยใจ และไม่อิจฉาริษยา
- มีความละอายใจในสิ่งไม่ดีแม้เล็กน้อย มีความรักความเมตตามากขึ้น คิดถึงผู้อื่น ปรารถนาที่จะไม่เบียดเบียน และปรารถนาที่จะทำให้ผู้อื่นมีความสุขมากขึ้น
- เห็นคุณค่าของวัตถุสิ่งของเครื่องใช้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะใช้มันอย่างคุ้มค่า เก็บรักษา ทนุถนอม แต่ไม่หวงแหนขี้เหนียว
- ยึดติดในผู้อื่นน้อยลง มีความเป็นอิสระจากผู้อื่นมากขึ้น มีความอยากให้ผู้อื่นเข้าใจตนน้อยลง
- หลับสบาย ไม่ว้าวุ่นใจ ตื่นนอนเป็นเวลา สามารถกำหนดเวลาตื่นได้
- ไม่ยึดติดในความเป็นบวกเป็นลบ และความเป็นคู่ทั้งหลาย เห็นความธรรมดาของโลกสมมุติอันเป็นสิ่งปรุงแต่ง หาสาระแก่นสารที่แท้จริงมิได้
- ร่วมหมู่คณะตามกาลเทศะ หากมันนำมาซึ่งประโยชน์ทางธรรม ไม่คลุกคลีตามอารมณ์อันเป็นไปเพื่อการปรารภโลก จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการ มองตน เรียนรู้ตน และแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง
- เห็นแจ้งและรับรู้สัมผัสในความงามและคุณค่าของธรรมชาติได้มากขึ้น มีความรักความกตัญญูต่อธรรมชาติมากขึ้น
- ไม่มีความต้องการที่จะสะสมอะไร จะมีสิ่งใดก็คำนึงถึงประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ทุกข์ไปกับสิ่งนั้น และไม่ยึดติดในความเป็นเจ้าของ
- เมื่อมีความปรารถนาในสิ่งใด มักได้ในสิ่งนั้น เพราะความปรารถนานั้นเป็นไปด้วยความพอเหมาะพอควรแก่เหตุปัจจัย และไม่เป็นไปเพื่อการได้ ดี มี เป็นของตน
- เห็นอุปสรรคและปัญหาไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหา กลับเป็นเรื่องสนุก เป็นหนทางแห่งการฝึกตน เป็นหนทางแห่งปัญญา
- ไม่ยินดีในคำสรรเสริญ ไม่ยินร้ายในคำนินทา
- มีโอกาสพบกับผู้รู้และ พบครูผู้ชี้ทางให้เจริญยิ่งขึ้น
- เห็นสรรพชีวิตเสมอภาคกันเป็นเพื่อนกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ แบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งภพแบ่งภูมิ รักและปรารถนาดีต่อทุกๆชีวิตได้เสมอกัน
- ไม่คิดที่จะควบคุม หรือเปลี่ยนแปลงผู้อื่น ยอมรับในความเป็นตัวตนของผู้อื่น และตนเป็นที่พึ่งของตนมากขึ้น
- มองเห็นคุณค่าของทุกๆสิ่งรอบตัว ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
- เข้าใจถึงผลและวิบากที่จะเกิดของทุกๆการกระทำได้มากขึ้น
- ตระหนักถึงความตายและความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตมากขึ้น เห็นคุณค่าของชีวิต และดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์
- มีความคิดสร้างสรรค์ คิดที่จะยังประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ติดในกรอบหรือจารีต แต่ก็ไม่ปฏิเสธต่อต้าน แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด มีความคิดเป็นเหตุเป็นผลและเป็นระบบอันละเอียดอ่อนลึกซึ้งมากขึ้น
- ไม่มีความรู้สึกโดดเดี่ยว หรืออ้างว้างเดียวดาย มีแต่ความเบาอิสระ และหนักแน่น มั่นคง
- มีความรู้ตัว รู้เท่าทันกายใจของตนเองอยู่ตลอดเวลา
- หมดสิ้นความกลัวตาย และความไม่อยากเกิด เพราะเห็นแจ้งในความเป็นมายาขอการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป
- หมดความยึดตน ถือตน ทะนงตน ไม่หลงว่าตนดีหรือไม่ดี แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง และกลับมีพลังที่จะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์มากขึ้นเป็นทวีคูณ
- ไม่จมอยู่กับอดีต ไม่ห่วงกังวลกับอนาคต ไม่ติดอยู่กับปัจจุบัน
- จิตจะดำรงอยู่ในความสงบเย็น มั่นคง ไม่กวัดแกว่ง หวั่นไหว หรือหวาดหวั่น ไปกับอารมณ์ที่เคยหวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ตนเคยพึงพอใจ ไม่พอใจ หรือหวาดกลัว
แล้วกลับมาดูตัวเองสิว่า ปฏิบัติมาขนาดนี้เรามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
อะไรที่ทำได้ อะไรที่ยังทำไม่ได้
แล้วจงนำธรรมทั้งหมดที่เรียนรู้มาเปลี่ยนแปลงตนเองให้ได้