แบบประเมินตนเอง

แบบประเมินตนเอง

ขอยกมาทบทวนอีกทีว่า อะไรคือเครื่องบ่งชี้ถึงผลของการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง

  1. ความโกรธน้อยลง เห็นความไม่พอใจและละมันได้เร็วขึ้น
  2. เปิดใจ ยอมรับและเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น ไม่ตัดสินถูกผิด ดีชั่วผู้อื่น
  3. สนใจที่จะมองความผิดพลาดของตน แต่สนใจที่จะมองข้อดีของผู้อื่น
  4. เปิดใจรับฟังมากขึ้น เป็นผู้ฟังที่ดีขึ้น ความอยากอวดภูมิรู้ของตนหมดไป
  5. เป็นคนซื่อตรง ไม่โกหก หลีกเลี่ยงการนินทาว่าร้าย และไม่พูดในเรื่องไร้สาระ
  6. มีความต้องการความสุขแบบโลกๆ เพื่อตัวเองน้อยลง เพราะเห็นความไร้สาระแก่นสารของโลก แต่เห็นความมีสาระแก่นสารของธรรมมากขึ้น
  7. มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสุขกับงานที่ตนทำมากขึ้น
  8. ใช้ทรัพย์สินเงินทองเพื่อประโยชน์ของตนเองน้อยลง แต่กลับเสียสละทุกอย่างของตนให้ผู้อื่นได้มากขึ้น
  9. สนใจพูดคุยแต่เรื่องราวอันเป็นไปเพื่อการละกิเลส ไม่สนใจในเรื่องราวที่เพิ่มกิเลส
  10. ไม่จุกจิก จู้จี้ ไม่ขี้บ่น ไม่คิดมาก ไม่สับสนว้าวุ่น ไม่น้อยอกน้อยใจ และไม่อิจฉาริษยา
  11. มีความละอายใจในสิ่งไม่ดีแม้เล็กน้อย มีความรักความเมตตามากขึ้น คิดถึงผู้อื่น ปรารถนาที่จะไม่เบียดเบียน และปรารถนาที่จะทำให้ผู้อื่นมีความสุขมากขึ้น
  12. เห็นคุณค่าของวัตถุสิ่งของเครื่องใช้มากขึ้น เรียนรู้ที่จะใช้มันอย่างคุ้มค่า เก็บรักษา ทนุถนอม แต่ไม่หวงแหนขี้เหนียว
  13. ยึดติดในผู้อื่นน้อยลง มีความเป็นอิสระจากผู้อื่นมากขึ้น มีความอยากให้ผู้อื่นเข้าใจตนน้อยลง
  14. หลับสบาย ไม่ว้าวุ่นใจ ตื่นนอนเป็นเวลา สามารถกำหนดเวลาตื่นได้
  15. ไม่ยึดติดในความเป็นบวกเป็นลบ และความเป็นคู่ทั้งหลาย เห็นความธรรมดาของโลกสมมุติอันเป็นสิ่งปรุงแต่ง หาสาระแก่นสารที่แท้จริงมิได้
  16. ร่วมหมู่คณะตามกาลเทศะ หากมันนำมาซึ่งประโยชน์ทางธรรม ไม่คลุกคลีตามอารมณ์อันเป็นไปเพื่อการปรารภโลก จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการ มองตน เรียนรู้ตน และแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง
  17. เห็นแจ้งและรับรู้สัมผัสในความงามและคุณค่าของธรรมชาติได้มากขึ้น มีความรักความกตัญญูต่อธรรมชาติมากขึ้น
  18. ไม่มีความต้องการที่จะสะสมอะไร จะมีสิ่งใดก็คำนึงถึงประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ทุกข์ไปกับสิ่งนั้น และไม่ยึดติดในความเป็นเจ้าของ
  19. เมื่อมีความปรารถนาในสิ่งใด มักได้ในสิ่งนั้น เพราะความปรารถนานั้นเป็นไปด้วยความพอเหมาะพอควรแก่เหตุปัจจัย และไม่เป็นไปเพื่อการได้ ดี มี เป็นของตน
  20. เห็นอุปสรรคและปัญหาไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหา กลับเป็นเรื่องสนุก เป็นหนทางแห่งการฝึกตน เป็นหนทางแห่งปัญญา
  21. ไม่ยินดีในคำสรรเสริญ ไม่ยินร้ายในคำนินทา
  22. มีโอกาสพบกับผู้รู้และ พบครูผู้ชี้ทางให้เจริญยิ่งขึ้น
  23. เห็นสรรพชีวิตเสมอภาคกันเป็นเพื่อนกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ แบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งภพแบ่งภูมิ รักและปรารถนาดีต่อทุกๆชีวิตได้เสมอกัน
  24. ไม่คิดที่จะควบคุม หรือเปลี่ยนแปลงผู้อื่น ยอมรับในความเป็นตัวตนของผู้อื่น และตนเป็นที่พึ่งของตนมากขึ้น
  25. มองเห็นคุณค่าของทุกๆสิ่งรอบตัว ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
  26. เข้าใจถึงผลและวิบากที่จะเกิดของทุกๆการกระทำได้มากขึ้น
  27. ตระหนักถึงความตายและความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตมากขึ้น เห็นคุณค่าของชีวิต และดำรงตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์
  28. มีความคิดสร้างสรรค์ คิดที่จะยังประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ติดในกรอบหรือจารีต แต่ก็ไม่ปฏิเสธต่อต้าน แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด มีความคิดเป็นเหตุเป็นผลและเป็นระบบอันละเอียดอ่อนลึกซึ้งมากขึ้น
  29. ไม่มีความรู้สึกโดดเดี่ยว หรืออ้างว้างเดียวดาย มีแต่ความเบาอิสระ และหนักแน่น มั่นคง
  30. มีความรู้ตัว รู้เท่าทันกายใจของตนเองอยู่ตลอดเวลา
  31. หมดสิ้นความกลัวตาย และความไม่อยากเกิด เพราะเห็นแจ้งในความเป็นมายาขอการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป
  32. หมดความยึดตน ถือตน ทะนงตน ไม่หลงว่าตนดีหรือไม่ดี แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง และกลับมีพลังที่จะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์มากขึ้นเป็นทวีคูณ
  33. ไม่จมอยู่กับอดีต ไม่ห่วงกังวลกับอนาคต ไม่ติดอยู่กับปัจจุบัน
  34. จิตจะดำรงอยู่ในความสงบเย็น มั่นคง ไม่กวัดแกว่ง หวั่นไหว หรือหวาดหวั่น ไปกับอารมณ์ที่เคยหวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ตนเคยพึงพอใจ ไม่พอใจ หรือหวาดกลัว

แล้วกลับมาดูตัวเองสิว่า ปฏิบัติมาขนาดนี้เรามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
อะไรที่ทำได้ อะไรที่ยังทำไม่ได้
แล้วจงนำธรรมทั้งหมดที่เรียนรู้มาเปลี่ยนแปลงตนเองให้ได้

Comments are closed.