ปัญญาใคร่ครวญ

ปัญญาใคร่ครวญ

สิ่งหนึ่งที่เราต้องฝึกให้มากคือ “ความเป็นกลางในคำพูดของคน”

มันเป็นเพราะคนเรายังยึดติดในคำชมคำด่า อยากดีกลัว(เขาว่า)ไม่ดี มันเลยทำให้ใจเราไม่เป็นอิสระ และทำให้เราหวั่นไหวยามเมื่อคนอื่นเข้าใจการกระทำของเราต่างออกไป

เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาและฝึกใจให้มากดังนี้

1. มองให้เห็นว่า การที่ใครจะชมจะด่า มันเอาแน่อะไรไม่ได้ ใครชอบใครถูกใจตอนนั้น เขาก็ชม ใครไม่ชอบไม่ถูกใจเขาก็ด่า เวลาสถานที่เปลี่ยนไปคนๆเดียวกันก็อาจเปลี่ยนใจไปได้

ดังนั้นจงอย่าได้เกลียดคนที่ด่าหรือรักคนที่ชมเลย มันไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารให้จับฉวยไว้

2. คำชมมันเหมือนน้ำตาล มันแค่อร่อยที่ปลายลิ้นชั่วคราว แต่มันจะทำร้ายร่างกายของเราภายใน
คำชมอาจฟังระรื่นหู แต่มันจะทำให้คนเราหลงตน ประมาท และสร้างมานะ

3. คำด่ามันเหมือนยาขม มันทรมานตั้งแต่เริ่มลิ้มรส
มันอาจเสียดแทงใจ(หากเราขาดปัญญา) แต่มันจะทำให้เราเข้มแข็งและเกิดการพัฒนา

4. การทำดีคือการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยสติปัญญาและเหตุปัจจัยที่เรามี และความดีมันอยู่ที่ผลของการกระทำนั้น ไม่ได้อยู่ที่ปากคน ไม่ได้อยู่ที่ใครจะเข้าใจหรือไม่

5. จงคิดใคร่ครวญให้ดีแล้วทำ มั่นใจในการตัดสินใจของตนที่ได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว แต่อย่ายึดมั่นว่ามันดีจริงๆ จงพร้อมที่จะรับฟังคำติเตียนและแก้ไขปรับปรุงเพื่อการพัฒนาต่อไป

6. คนเราไม่สามารถเข้าใจใครได้อย่างถูกจริง
ดังนั้นหากเรามัวแต่ฝังใจอยู่กับคำพูดหรือการแสดงออกของคนอื่นที่มีต่อเรา นั่นเรากำลังเผาตนอยู่ในกองไฟแห่งความทุกข์

จงพิจารณาให้มาก จนสติสมาธิปัญญามันตกผลึก เราก็จะเป็นอิสระ

Comments are closed.