ทบทวนหลักการพิจารณา

ทบทวนหลักการพิจารณา

ขอทบทวนอีกที ในหลักการพิจารณา หลายคนไม่เข้าใจและทำกันผิดๆ ไม่เพียงไม่เกิดประโยชน์ แต่กลับส่งเสริมอัตตา

1. เราควรจะพิจารณาในเรื่องที่ทำให้เราหวั่นไหวตามลำดับก่อนหลังคือ รุนแรง นาน และบ่อย

2. ต้องพิจารณาให้เห็นว่า เรายึดอะไรถึงหวั่นไหวเช่นนั้น และสิ่งที่ยึดมันยึดไม่ได้อย่างไร

3. ควรใช้เหตุผลที่ใช้แก้ให้เหมาะสมกับกิเลส(ธัมวิจยะ)
เรื่องหยาบทางโลก ก็ควรใช้เหตุผลหยาบๆ เรื่องละเอียดก็ต้องใช้เหตุผลที่ละเอียด
และจะต้องแก้เรื่องหลงหยาบๆให้เบาบางก่อน
ไม่ใช่จะรีบกระโดดข้ามไปแต่พิจารณาขันธ์ห้าด้วยไตรลักษณ์หรือสุญญตา ทั้งๆที่ช่วงนั้นตนยังเต็มไปด้วยอุปกิเลส

4. ลำดับขั้นของความหลงจากหยาบไปหาละเอียด สรุปให้ฟังง่ายๆ คือ
อุปกิเลส ทิฐิมานะ โลกธรรม คุณค่า ของกู ตัวกู ขันธ์ห้า
การพิจารณาไม่ควรกระโดดเกินสามขั้น เช่น หลงแสดงออกเป็นอุปกิเลส ก็ควรพิจารณาตัดที่อุปกิเลสหรือทิฐิมานะ
หรืออย่างมากก็เรื่องโลกธรรม ไม่ใช่กระโดดไปพิจารณาไตรลักษณ์ของขันธ์

5. ธรรมที่จะเป็นคู่ปรับ ที่คู่ควรต่อความหลงในแต่ระดับคร่าวๆ คือ อุปกิเลส ทิฐิมานะ – ให้เห็นโทษภัย เห็นความเลวร้าย
โลกธรรม – ให้เห็นความเป็นธรรมดา ความไร้สาระแก่นสาร
คุณค่า – ความไร้สาระ ความไม่มีคุณค่าที่แท้จริง
ของกู – ให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดจะยึดเป็นของกูได้
ตัวกู – ให้เห็นว่ามันไม่มีความเป็นเราที่แท้จริง ความเป็นเราเป็นแค่การปรุงแต่งของจิต
ทั้งหมดที่เราหลงว่าเราเป็นเพียงขันธ์ห้า
ขันธ์ห้า – พิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์แบบไม่มีตัวตน ให้เห็นความเป็นสุญญตา ความเป็นมายา เรื่องหยาบจากของกูออกมา ใช้การคิดพิจารณามากๆ 80-90% : เห็นจริง 10-20%
กรณีตัวกู(สักกายทิฐิ) ต้องใช้การคิดพิจารณา 50% และการเห็นตามเป็นจริง50%
ส่วนเรื่องขันธ์ ใช้การคิดพิจารณาได้แค่ 20% ใช้การเห็นตามเป็นจริง 80%

ปล.โลกธรรมนั้น หมายรวมเอา การเจ็บป่วย ความแก่ และความตายด้วย

6. นอกจากการพิจารณาแล้ว เมื่อปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เราควรฝึกตนให้มีสติรู้เท่าทัน และสังเกตุเรียนรู้ความ
จริง 7 อย่างคือ ปรากฏการณ์นั้นอะไร
มีคุณ(เป็นกุศล)มีโทษ(เป็นอกุศล) อย่างไร
“ “ “ ในสถานการณ์ไหน
มีความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งอื่นอย่างไร
เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยอย่างไร
เราควรจัดการกับมันอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ธรรมชาติที่แท้จริงของมันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าทุกครั้งทุกปรากฏการณ์จะสังเกตุเรียนรู้ได้ครบ แต่ให้พยายามเรียนรู้ให้มากไม่ใช่แค่สติรู้สภาวะอย่างเดียว
การสังเกตุเรียนรู้ไม่ใช่การจดจ้องมองหา ไม่ใช่การครุ่นคิด แต่เป็นการเรียนรู้บนความสงบโดยปราศจากนิวรณ์
สติรู้เท่าทัน ปัญญาแยกแยะทำความเข้าใจ

7. ต้องหัดการพิจารณาเพื่อแยกแยะเหตุปัจจัยให้มากๆ และการพิจารณานี้มีเป้าหมายสองอย่างคือ

  • โลกียะวิสัย เป็นเรื่องของเหตุและผล เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้…สืบเนื่องกันไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อเราจะได้เรียนรู้แก้ไข (ละสิ่งเสื่อม เจริญสิ่งดี )
    ดังนั้น จึงควรเป็นเหตุใกล้ที่เราสามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่เหตุอันไกลเกินไปที่เราทำอะไรไม่ได้แล้ว
  • โลกุตตระวิสัย เป็นเรื่องของการแยกแยะองค์ประกอบต่างๆที่ทำให้มันปรากฏในขณะนั้น เพื่อให้เข้าใจถึงสุญญา ความเป็นมายาปรากฏ ความเป็นหนึ่งเดียวคือหลากหลาย หลากหลายคือหนึ่งเดียว ซึ่งต้องอาศัยการฝึกปัญญาอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญ คือ สัพเพ สังขารา อนัตตา

8. การพิจารณาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนจิตมันยอมรับโดยดุษดี ไม่ใช่คิดนิดๆหน่อยก็เลิก

9. การพิจารณาต้องเป็นเหตุผลของตัวเอง จากประสบการณ์ตรง ตัวอย่างตรงของตัวเอง ไม่ใช่เอาแต่สัญญาที่อ่านฟังมา

10. เมื่อพิจารณาได้แล้ว ก็ให้ทิ้งไป ไม่ต้องเก็บไว้ อย่าหลงสร้างทิฐิสามให้เกิดขึ้น
(สิ่งที่คิดจริงถูก, กูเป็นคนคิด, กูเก่งกูดีเพราะกูคิดได้พิจารณาได้)

11. จำไว้ว่า ทุกข์เกิดจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดังนั้นหากเราต้องการพ้นทุกข์ เราต้องรื้อถอนที่อวิชชาความหลงด้วย
ไม่ใช่ไปจัดการแค่การบล็อคจิตไม่ให้มีตัณหาอย่างเดียว เช่นนั้นเหตุหลักภายในก็ยังคงอยู่
การละสมุทัย คือละเหตุ ถอนเหตุออกให้หมด เรียกว่าขุดรากถอนโคน เพราะฉะนั้น อย่าปฏิบัติแบบฉุ่ยๆ มันจะไม่พ้นนรก เธอไม่อาจบริสุทธิ์ได้ หากยังเต็มไปด้วยความหลง
แล้วอะไรละที่จะรื้อถอนความหลง
ก็สติปัญญาที่ตั้งมั่นเท่านั้น
สติอย่างเดียวก็บื้อ
ปัญญาอย่างเดียวก็อ่อนแอ
สมาธิ ก็ต้องเป็นสัมมาสมาธิ คือตั้งมั่นบนสัมมาทิฐินั้น
ที่สุดคือความอิสระ บริสุทธิ์ได้ อนุโมทนาล่วงหน้ากับการที่จะตั้งใจนำไปปฏิบัติ ชีวิตจะได้ไม่สูญเปล่า

Comments are closed.