รู้เท่าทัน หมั่นสังเกต

รู้เท่าทัน หมั่นสังเกต

ปัญหาของการสลายกรอบแห่งอัตตาตัวตนที่สำคัญคือเราไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงยามเมื่อมันปรากฏ

นักปฏิบัติน่าจะเคยได้ยินและพิจารณามากันพอสมควรแล้วว่า สิ่งทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวตน
(หากยังไม่เคยก็หัดไปศึกษาพิจารณาเสียก่อน ให้จิตมันยอมรับให้ได้)

แต่แม้พิจารณาได้ จนเกิดความเข้าใจแจ่มชัด จนคิดว่าจิตมันยอมรับแล้ว นั่นมันยังเป็นของปลอม มันยอมรับได้แค่ความคิด หรือที่เราเรียกว่า ปัญญาสัญญา
เราจึงต้องนำความรู้ความเข้าใจหรือสัญญานั้นมาภาวนาอีกทีหนึ่ง

การภาวนานั้นแยกออกอีกเป็นสอง คือ

1. ยามรับรู้ ยามกระทบ อะไรก็ตาม ไม่ว่าจะนอกหรือใน หรือที่เรียกว่า ยามเมื่อปรากฏการณ์มันปรากฏ
ให้หัดดูมัน แยกแยะมัน ให้เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ตามปัญญาที่เราเคยพิจารณามา พิจารณาให้เห็นแจ้งเช่นนั้นจนจิตมันคลายความหมายมั่นโดยความเป็นตัวตนออกในขณะนั้น ปรากฏสภาพแห่งความไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตนขึ้นภายใน ซึ่งทั้งหมดนี่ไม่ได้ใช้การคิด แต่เป็นการสังเกต แยกแยะ

เมื่อทำได้เช่นนี้ ให้ทำบ่อยๆ ทำให้มาก จนคล่องตัวในทุกๆปรากฏการณ์ ทั้งหยาบและละเอียด ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับความแยบคายของสติว่าจะเห็นเท่าทันปรากฏการณ์แห่งความเป็นตัวตนนั้นหรือเปล่า ซึ่งก็โยงไปหาการฝึกข้อ2คือ

2. หัดสังเกต เรียนรู้เท่าทันความหมายมั่นโดยความเป็นตัวตนที่เกิดขึ้น จากหยาบไปหาละเอียด นับตั้งแต่ตัวตนอันใหญ่โตระดับทิฐิมานะ ตัวตนผู้ติดสุขติดทุกข์ ติดโลกธรรม ตัวตนผู้เป็นเจ้าของ ตัวตนแห่งความเป็นเรา ตัวตนของกาย ตัวตนของเจตสิกต่างๆนับตั้งแต่อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด สภาวะ ความหมาย ทิฐิ และตัวตนของจิต
เราต้องหัดรู้เท่าทันปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้ให้หมดยามเมื่อมันปรากฏ เมื่อรู้เท่าทันก็ให้ทำตามข้อ1ต่อไป

ดังนั้น อย่าหลงคิดว่า

– การที่เราเข้าใจชัดแล้วว่าขันธ์ห้าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร มันจะสามารถสลายอัตตาทิฐิของเราได้ หากเราไม่สามารถเห็นเท่าทันปรากฏการณ์แห่งการหมายมั่นในความเป็นตัวตนนั้น ความเข้าใจนั้นก็เป็นเพียงความเข้าใจเท่านั้น เรียกว่า มีแต่สัญญาแต่ขาดสติ

– แม้เราเห็นเท่าทันปรากฏการณ์แห่งการหมายมั่นโดยความเป็นตัวตน แต่เราไม่สามารถแยกแยะออกสู่ความไม่ใช่ตัวตนอย่างไรได้(มิได้ใช้การคิด)ในขณะนั้น ความเป็นตัวตนก็ยังมิได้ถูกละวางลง เรียกว่ามีสติแต่ยังขาดปัญญา

– แม้เราสามารถเห็นเท่าทันและแยกแยะได้จนเห็นว่าปรากฏการณ์แห่งความเป็นตัวตนนั้นๆ มิได้เป็นตัวตนใดๆ อัตตาทิฐินั้นสลายไป แต่ไม่สามารถเห็นแจ้งธรรมชาติอันเป็นรากฐานที่ก่อเกิดปรากฏการณ์แห่งความเป็นตัวตนนั้น ความอิสระก็ยังไม่เกิดขึ้น เรียกว่า วิมุติที่ขาดวิมุติญาณทัศนะ

จงจดจำคำสอนนี้ไว้ให้ดีแล้วนำไปปฏิบัติ แล้วเธอจะพ้นจากทุกข์ไปตามลำดับแห่งสติปัญญาของเธอ

Comments are closed.