อัปมัญญา

อัปมัญญา

แล้วอะไรล่ะคือ อัปมัญญา
อัปมัญญา คือ ไร้เงื่อนไขใดๆ ไร้ขอบเขต กว้างใหญ่แผ่ไพศาล ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ

ที่ว่า ไร้เงื่อนไข ไร้ขอบเขตฯ เป็นอย่างไร
มันหมายถึง ไร้เงื่อนไข ไร้ขอบเขตแห่งความหมายแห่งความเป็นตัวตนใดๆทั้งสิ้น

ซึ่งความหมายแห่งความเป็นตัวตนนั้น มีอยู่ 3 คือ
ผู้ถูกกระทำและ/หรือผลของการกระทำ การกระทำ และผู้กระทำ

อัปมัญญาจึงหมายถึง ไม่จำกัดว่าใครจะเป็นผู้รับ ไม่หวังในผล ไม่หมายมั่นในการกระทำนั้นๆ ทั้งความหมายและคุณค่า และไม่ยึดมั่นสร้างตัวตนว่าเราเป็นผู้กระทำ

เพราะเข้าใจชัดในปฏิจจสมุปบาท เห็นแจ้งว่า ปรากฏการณ์ทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นเพราะเหตุและปัจจัย มันหาได้มีตัวตนใดๆทั้งสิ้น
มันจึง
มิได้มีตัวตนของผู้รับ
ไม่สามารถคาดหวังใดๆได้ในผล
ไม่มีตัวตนของการกระทำ
ไม่มีตัวตัวตนของผู้กระทำอันใด

ผู้ให้ก็มิได้มีอยู่จริงแท้ ทั้งในแง่ความเป็นตัวตนของผู้ให้เอง และ ความเป็นผู้ให้ที่แท้จริงก็มิได้มี
การให้ก็มิได้มีตัวตนของปรากฏการณ์ใดที่เราเรียกว่า การให้จริงๆ ไม่ได้มีคุณค่าว่าดี หรือไม่ดีอันใดจริงๆ
ผู้รับก็มิได้มีตัวตนใดๆของผู้รับเอง และความเป็นผู้รับที่แท้จริงก็มิได้มี
ทั้งหมดเป็นเพียงกระแสเหตุปัจจัยที่แปรเปลี่ยนไปมาเท่านั้น

เมื่อเห็นแจ้งเช่นนี้ เรียกว่า เห็นปฏิจสมุปบาทหรืออิทัปจจยตาของการให้ เห็นสุญญตาของการให้

เมื่อแจ้งชัดในสุญญตาเช่นนี้พร้อมกับการให้ที่สอดคล้องกับความรู้แจ้งเช่นนั้น การให้นั้นก็บริสุทธิ์
เมื่อการให้นั้นบริสุทธิ์ จิตก็จะถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฐิ ปีติ และสุข ตั้งมั่นอยู่บนกุศลแห่งการให้ที่ไร้การยึดติด

เมื่อจิตเป็นกุศลอันไร้การยึดติด จะตั้งมั่นอยู่โดยตัวของมันเอง ไม่วอกแวกออกนอก หรือกวัดแกว่งไปไหน
เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่โดยตัวมันเองเช่นนี้ มหาสติปัฏฐานสี่ก็ตั้งมั่นได้โดยง่าย เพราะจิตประกอบด้วย สัมมาทิฐิ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ดังนี้

จิตที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ ถูกเรียกว่า โพธิจิต
หรือ จิตแห่งความรู้แจ้งหลุดพ้น

Comments are closed.