สติและปัญญา

สติและปัญญา

ทบทวนอีกทีว่า
การที่เราจะเลือกเฟ้นธรรมให้เหมาะสม เพื่อตัด ละ วาง กิเลสในแต่ละระดับนั้น
มันอาศัยกระบวนการของปัญญาที่แตกต่างกัน
ขอแบ่งเพื่อความเข้าใจง่ายๆคือ

กิเลสหยาบ ในระดับอุปกิเลส ทิฐิมานะ ความหลงในโลกธรรมหยาบๆ อันเป็นสิ่งภายนอก
เราสามารถใช้ปัญญาแค่ระดับคิดพิจารณาได้ เห็นโทษเห็นภัย ละวางมันให้ได้ ก็พอ

กิเลสระดับกลาง เช่น ความหลงในความเป็นเรา ของเรา
เราต้องใช้ปัญญาคิดพิจารณาครึ่งหนึ่ง ปัญญาพินิจพิจารณา เห็นแจ้งประจักษ์จริงอีกครึ่งหนึ่ง
จะเอาแต่การคิดพิจารณา โดยไม่เคยเห็นแจ้งในความเป็นเรา ความยึดถือเป็นของเรา ที่ปรากฏ
กิเลสคือ สักกายทิฐิ ย่อมไม่อาจถูกละได้

ส่วนกิเลสระดับละเอียด เช่น กามราคะ รูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ ลงไปถึงอวิชชาความหลงหมายมั่นขันธ์เป็นสิ่งจริง
เราต้องใช้ ปัญญาเห็นแจ้งประจักษ์ตามสภาพความเป็นจริง เป็นหลัก จะใช้การคิดพิจารณาไม่ได้เลย แต่ก็ต้องอาศัยสัมมาทิฐิที่อบรมมาอย่างดีแล้วเป็นทุน

ยิ่งปัญญาขั้นสุดท้าย คือการเข้าถึงพุทธะภาวะ
มันจะมีแค่การเห็นแจ้งประจักษ์ เข้าใจมันชัด อย่างเดียวเท่านั้น มิได้อาศัยการคิดพิจารณาใดๆ

ดังนั้น ยิ่งธรรมละเอียดเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้ปัญญาเห็นแจ้งเท่านั้น จะเอาแค่การคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล มันก็จะกลายเป็นหลงกลยึดสัญญาสังขารซ้อนเข้าไปอีก แล้วหลงจมอยู่ตรงนั้น

ตัวอย่างเรื่อง ขันธ์เป็นอนัตตา หรือสุญญตา
หากมิเคยเห็นขันธ์ มิเคยเห็นแจ้งในความเป็นอนัตตา ไม่เคยเห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาท มีแต่แค่การคิดพิจารณาด้วยเหตุผล หรือจดจำเอามา
ย่อมไม่สามารถตัดขาดความหลงนั้นได้จริง
กลับยิ่งหลงยึดสัญญาสังขารเป็นตัวเป็นตน จนสร้างทิฐิมานะว่า ตนรู้ธรรมชั้นสูงเข้าไปอีก

โดยเนื้อหาก็เช่นเดียวกัน
กิเลสระดับหยาบ ความหลงยึดสิ่งหยาบๆภายนอก เราอาจแค่เห็นโทษเห็นภัย เห็นว่ามันสร้างทุกข์ เห็นว่ามันไม่เที่ยง ก็ตัดละวางได้แล้ว

ในระดับกลาง เราอาจเห็นความที่มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป ยึดถืออะไรไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ แล้วก็วางมัน ก็พอได้ แต่มันก็ยังเหลือเชื้อ ให้เวียนว่าย เพราะอวิชชายังไม่หมด

แต่ในระดับละเอียด เราจะต้องเห็นแจ้งในธรรมชาติอันแท้จริงของมัน อันเป็นปฏิจจสมุปบันธรรม ว่างเปล่าจากตัวตน เป็นอย่างน้อย เราถึงจะวางมันได้จริง
จะเอาแค่เห็นโทษ เห็นว่ามันเป็นทุกข์ไม่ใช่สุข เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แบบยังมีตัวตน นั้น ไม่สามารถจะตัดขาดอวิชชาความหลงได้หมดสิ้น
ผลก็คือ ยังต้องเวียนว่ายอยู่อีกหลายกัป

ที่กล่าวมานี่เป็นนัยของปัญญาเท่านั้น
จะต้องไม่ลืมว่า
ไม่ว่ากิเลสระดับไหนที่มีในเรา เราต้องมีสติแยบคาย ที่จะรู้เท่าทันยามเมื่อมันปรากฏ
เพราะหากไม่รู้จัก ไม่รู้เท่าทันในยามที่ปรากฏ ปัญญาก็ย่อมทำงานไม่ได้
ธรรมทั้งหลายที่เราหลงว่า เรารู้ เราเข้าใจ มันจะเป็นเพียงแค่สัญญาเท่านั้น

สติ-ปัญญา จึงเป็นสิ่งที่ต้องสอดคล้องกลมกลืน ดำเนินคู่กันไปตลอดเส้นทาง

จงสำเหนียกสิ่งต่างๆเหล่านี้ไว้ให้ดี
มิฉะนั้นจะยังคงหลงยึดมั่นถือมั่นขันธ์โดยไม่รู้ตัว ทั้งๆที่ตนคิดว่า ตนวาง

Comments are closed.