อย่าหลงในคุณค่าความหมาย

อย่าหลงในคุณค่าความหมาย

โดยอาการของจิตเอง มักมีลักษณะสองเสมอ
ไม่สงบ-สงบ, แคบ-เปิดกว้าง, หนัก-เบา, หดหู่-เบิกบาน, ไม่อิสระ-อิสระ, ไม่บริสุทธิ์-บริสุทธิ์

ฟากแรก มักเป็นไปเพื่อความเสื่อมเรียกว่า อกุศลจิต
ส่วนฟากหลัง มักเป็นไปเพื่อความเจริญ เรียกว่า กุศลจิต
แต่ทั้งหมดก็ล้วนเป็นเพียงความหมายและคุณค่าที่จิตปรุงแต่งขึ้นทั้งสิ้น
แท้จริงแล้ว มันมิได้มีคุณค่าและความหมายจริงๆ เช่นนั้น
มันเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย
ไม่มีตัวตนที่แท้จริงอันใด

สงบ-ไม่สงบ ก็คือ จิต
แคบ-เปิดกว้าง ก็คือ จิต
ทั้งหมดก็คือจิต ทั้งนั้น
เมื่อจิตรู้ในจิต มันก็ปรุงแต่งความหมายและคุณค่าของจิตขึ้น ตามสัญญาที่มันสะสมมา

หากจิตที่รับรู้จิตนั้น หลงยึดมั่นในความหมายและคุณค่าของจิตนั้นว่า เป็นสิ่งจริงแท้
มีความหมายและคุณค่าเช่นนั้นจริงๆ
นั่นก็คือจิตที่ยังหลง หลงในธรรมคู่ หลงในอัตตาทิฐิ หลงจิตเป็นอัตตา หลงจิตว่าเป็นสิ่งจริง
นั่นย่อมเป็นจิตที่ยังมีอวิชชาประกอบอยู่ มิได้บริสุทธิ์หลุดพ้น

หากจิตที่รู้ในจิตนั้น แจ้งชัดถึงความเป็นมายาของความหมายและคุณค่าทั้งสองฟากของจิตนั้นๆ
ไม่หลงในความหมายและคุณค่าใดๆ
ไม่หลงแม้กระทั่งในความเป็นจิต
นั่นคือ จิตที่เป็นอิสระ หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นใดๆทั้งสิ้น

ดังนั้น
พวกเธอจงหมั่นสังเกตเรียนรู้จิต
แยบคายในลักษณะอาการต่างๆ อันหลากหลายของจิต
รู้จักละวางฟากที่เป็นอกุศล และเจริญฟากที่เป็นกุศลจิต
โดยไม่ลืมว่า แม้ความเป็นกุศลและอกุศล ก็แปรเปลี่ยนตามเหตุปัจจัย
อย่าได้หลงยึดฟากใดๆว่า เป็นตัวตนอันถาวร
แจ้งชัดในธรรมชาติอันแท้จริงของจิต อันเป็นเพียงมายาของการรับรู้ตามธรรมชาติเท่านั้น
เมื่อหมดสิ้นความหลงใดๆ ในปรากฏการณ์แห่งการรับรู้
จิตจะอิสระตามธรรมชาติเดิมของมัน

Comments are closed.