พลังแห่งโพธิจิต

พลังแห่งโพธิจิต

โพธิจิต เป็นจิตขององค์พุทธะและโพธิสัตว์ทั้งหลาย แต่ใช่ว่า สรรพสัตว์และปุถุชนทั่วไปจะไม่มี พวกเขาต่างมีเพียบพร้อมแล้วอยู่ในจิต เพียงแต่ว่า กิเลสเครื่องมัวหมองและอวิชชาความหลงได้ปกปิดการรับรู้ของเขาไว้จนทำให้เขาไม่สามารถรู้จักธรรมชาติที่แท้จริงที่สมบูรณ์พร้อมอยู่แล้วนี้ของพวกเขาได้เท่านั้น

พระพุทธองค์ไม่ได้สอนอะไรเลยนอกไปจากโพธิจิตนี้ คำสอน 84,000 พระธรรมขันธ์ก็ล้วนชี้ตรงไปเพื่อให้บุคคลเห็นแจ้งในโพธิจิตนี้ทั้งสิ้น พระพุทธองค์มิได้ทรงสอนให้ใครตัดช่องน้อยแต่พอตัวเล็ดรอดออกไปโดยไม่สนใจใยดีช่วยเหลือผู้อื่น นิพพานไม่ใช่สภาวะแห่งความพ้นทุกข์ที่จะต้องหนีไปจากโลก และนิพพานก็มิใช่บรมสุขแบบโลกๆในแบบที่ชาวโลกชอบเสกสรรปรุงแต่งกัน

โพธิจิตล้วนสมบูรณ์พร้อมอยู่แล้วในคนทุกคน มันมิได้มีความแตกต่างอันใดเลยระหว่างโพธิจิตขององค์พุทธะทั้งหลายกับสรรพสัตว์ เพียงแต่สรรพสัตว์มิสามารถแจ้งชัดถึงได้ ในขณะที่องค์พุทธะทั้งหลายท่านแจ้งชัด

เมื่อกิเลสตัณหาบังตา อวิชชาปกคลุมให้มืดมัว ผลคือความหลงยึดมั่นโดยความเป็นตัวตนของตน และลุกลามไปจนถึงความเห็นแก่ตัว สิ่งเหล่านี้แหละที่ปกปิดโพธิจิตตามธรรมชาติดั้งเดิมที่สมบูรณ์อยู่แล้ว มิให้เป็นที่ปรากฏ

เพียงแต่มนุษย์ หัดหยุดความเห็นแก่ตัว รักและเมตตาผู้อื่นด้วยใจที่บริสุทธิ์ โดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่นใด ๆ พลังแห่งโพธิจิตที่ถูกปกปิด ก็จะปรากฏขึ้นท่ามกลางโคลนตมนั้น

โพธิจิตคือ จิตที่มุ่งมั่นปรารถนาที่จะช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ด้วยความอิสระหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง โพธิจิตจึงประกอบด้วย สมมุติจิต 2 อย่างคือ จิตแห่งความเมตตากรุณา และจิตแห่งความรู้แจ้ง

หากตนรู้แจ้งหลุดพ้นแต่ขาดความเมตตากรุณา ไม่สนใจใยดีต่อความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ นั่นย่อมไม่ใช่โพธิจิต และย่อมไม่ใช่การหลุดพ้นที่แท้จริง ผลก็คือ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่เช่นนั้น

หากตนมีความรักความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ แต่ยังเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น นั่นก็มิใช่โพธิจิต มิใช่ความเมตตากรุณาที่บริสุทธิ์ ผลก็คือ ความยึดติดในความดีและต้องทุกข์เพราะการทำดีนั้น

โพธิจิตจึงไม่ใช่ทั้งสองข้างต้น แต่เป็นจิตที่มุ่งหน้าช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วยความไม่ยึดติดใดๆ ไม่ยึดติดในตนผู้กระทำ ไม่ยึดติดในการกระทำ และไม่ยึดติดในผลของการกระทำ

โพธิจิตจึงไม่ใช่จิตที่หนีโลก ปฏิเสธโลก เกลียดชังโลก หรือ แยกตัวออกจากโลก โดยไม่สนใจใยดี ขาดความรักความเมตตา
และโพธิจิตก็ไม่ใช่จิตที่ติดโลก ติดใจเพลิดเพลินอยู่กับโลก หรือจมอยู่ในความสุขแห่งโลกทั้งสาม

แต่โพธิจิตเป็นจิตที่อิสระท่ามกลางโลกทั้งสาม หลุดพ้นอยู่ในโลกทั้งสาม และสามารถช่วยเหลือโลกทั้งสามให้พ้นจากทุกข์

เราสามารถบรรลุถึงโพธิจิตอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมได้ ก็ด้วยการพัฒนาสติสมาธิปัญญา และความเมตตากรุณาให้ถึงพร้อม จนสามารถรองรับการปรากฏขึ้นของโพธิจิตภายในได้

การพัฒนา สติ 3 สมาธิ 3 ปัญญา 3 ท่ามกลางรากฐานแห่งอัปมัญญา 4 จะนำไปสู่การพัฒนาปัญญาทั้งห้า เมื่อปัญญาทั้งห้าประสานกันเป็นหนึ่ง โพธิจิตเดิมแท้ก็จะไม่มีสิ่งใดปกปิดอีกต่อไป

จงหัดช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยความรักความเมตตาที่บริสุทธิ์ ปล่อยวางความยึดติดในความเป็นตัวตนของตนออกเสีย ละวางอารมณ์เครื่องมัวหมองทั้งหลาย และอิสระแล้วจากการปรุงแต่งทั้งปวง

หากเราช่วยใครโดยที่ความมัวหมองทั้งหลายยังอยู่ การช่วยนั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ผลคือความทุกข์หรือเหตุแห่งทุกข์ย่อมตามมา

เมตตามิใช่ตัณหา แม้ต้องอาศัยอัตตาในเบื้องต้น แต่ก็เป็นอัตตาโดยสมมุติด้วยความตื่นรู้เท่านั้น ตัณหาเป็นความทะยานไปพุ่งไปของจิต แต่เมตตาเป็นความกว้างใหญ่ไพศาล อิสระ ไร้ขอบเขต ไร้ที่ตั้ง โอบอ้อมอารี เปิดรับและสงบเย็น ซึ่งนี้ล่ะ คือสมมุติลักษณะสำคัญของโพธิจิต

ในการภาวนา เราสามารถฝึกตนให้แจ้งสู่โพธิจิตได้ด้วยการตั้งมั่นอยู่ด้วยสุญญตาวิหารธรรม

แต่ในชีวิตประจำวัน เราสามารถฝึกตนให้แจ้งสู่โพธิจิตได้ด้วยการรักและปรารถนาดีต่อผู้อื่น เสียสละช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจที่บริสุทธิ์ โดยไม่หวังสิ่งใดๆ

และที่ว่าบริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร

บริสุทธิ์คือ ปราศจากการยึดในทิฐิทั้งสาม ปราศจากความหมายมั่นในสิ่งที่ตนทำว่าดี ความหมายมั่นว่าตนเป็นผู้ทำ ความหมายมั่นว่าตนดีเพราะเป็นผู้กระทำสิ่งดี

ตัวอย่างพลังแห่งโพธิจิตได้แสดงให้เห็นชัดในกรณีการช่วยเหลือเด็ก13คน ที่ถ้ำหลวง แม้จะเป็นเพียงพลังของโพธิจิตที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่มันก็ยิ่งใหญ่ไพศาล ความรักความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ความเสียสละตัวตนของตน การเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นเป็นสำคัญ ความอดทนต่ออารมณ์อันกดดันบีบคั้นของตัวเอง การเปิดใจรับฟังผู้อื่น การใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา และความรู้รักสามัคคี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากโพธิจิตที่มีอยู่แล้วภายในใจมนุษย์เราทุกคน

โลกจะงดงาม และอยู่ได้ด้วยความสงบสุขร่มเย็นและศานติ ก็ด้วยโพธิจิตนี้เท่านั้น และนี่ล่ะ คือเป้าหมายของการมาจุติของพระพุทธองค์ ที่พวกมนุษย์เราทุกคนจะต้องพัฒนาตนไปให้ถึง

……………..ขอสดุดี

Comments are closed.