โมโหขุ่นเคือง ไม่เป็นดังใจจะ deal อย่างไร?

โมโหขุ่นเคือง ไม่เป็นดังใจจะ deal อย่างไร?

ก่อนอื่นเราต้องสงบใจให้ได้เสียก่อนจะด้วยวิธีใดก็ได้ใน 3 อย่างนี้ตามลำดับ จากดีที่สุดและยากที่สุดไปหาง่ายที่สุด

  1. หากเรามีพลังวิปัสสนาพอ คือมีสติปัญญาที่จะยอมรับมันได้โดยไม่หวั่นไหวไปกับมัน โดยไม่ต้องกดข่มใจ เพราะใจมันยอมรับความเป็นจริงขั้นพื้นฐานได้ว่า “ความขุ่นเคืองทั้งหลายล้วนเกิดจากจิตที่ยึดติดของเราเอง” ก็ให้เราเฝ้าดูอาการของจิต เรียนรู้มัน สังเกตการปรุงแต่งของมัน โดยไม่กระโดดเข้าไปเล่นกับมัน หากทำได้เช่นนี้ เราจะเข้าใจความจริงของตัวเราเองได้อย่างรวดเร็ว
  2. หากเราทำข้อหนึ่งไม่ได้ ก็ให้ใช้กรรมฐานที่ตนชำนาญเช่น กำหนดลมหายใจ เพื่อให้ใจสงบ
  3. ในบางคนที่มีนิสัยทางปัญญา อาจนำเรื่องนั้นขึ้นมาพิจารณาเพื่อดูว่าเราหลงยึดอะไรถึงทำให้ขัดเคือง และเรื่องที่เรายึดนั้น มันยึดไม่ได้อย่างไร แต่มีข้อแม้ว่า ต้องพิจารณาบนความสงบของใจให้มากที่สุด หากพิจารณาไปแล้ว จิตมันไม่อยู่กับตน แต่ออกไปโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ คนนั้นคนนี้ จงหยุดพิจารณา เพราะแสดงว่า ความยึดติดของเราในเรื่องนี้มันรุนแรงกว่ากำลังของเรา
  4. เป็นข้อแถม ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น แต่บางครั้งเราไม่สามารถจะทำได้เลยทั้ง 3 ข้อต้น ก็ให้เราใช้วิธีของโลกๆ หลบหนีการกระทบนั้นเสีย ย้ายความสนใจไปอยู่กับสิ่งอื่น หรือทำเป็นเมินเฉยต่อมัน

และเมื่อใจสงบได้แล้วไม่ว่าจะวิธีใด เราจำเป็นจะต้องนำเหตุการณ์นั้นมาพิจารณา ให้เห็นแจ้งว่า เรายึดอะไร สิ่งที่เรายึดมันยึดไม่ได้อย่างไร มันเกิดขึ้นได้เพราะเราพลาดไปอย่างไร เพราะเหตุใด เพื่อเป็นอุบายในการสอนจิตและเป็นทุนแห่งปัญญาในครั้งต่อไป

สติอย่างเดียวไม่อาจทำให้ความรู้สึกนั้นหมดไป มันอาจดับไปของมันเองเพราะเราใช้สติกำหนดจดจ้องไว้ แต่ความหลงยึดมั่นถือมั่นของเรายังอยู่ คอยวันระเบิดอีกทีหนึ่ง

ขณะที่เจริญเช่นที่กล่าวมานี้ อย่าได้กระทำด้วยความมุ่งหวังให้มันหมดไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะยิ่งสร้างความทุกข์ความขุ่นเคืองให้มากขึ้น เพราะมีตัณหา แต่ให้กระทำด้วยการใฝ่เรียนรู้เพื่อจะได้เข้าใจตนเองเพื่อการละวางตัวตนต่อไป


ขยายความ

การที่เราขุ่นเคืองสิ่งใด มันมักจะเกิดเพราะ สิ่งนั้นมันไม่เป็นดังใจเราปรารถนา การที่เราปรารถนาให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เพราะเราเผลอหลงว่าเราจะมีอำนาจควบคุมหรือบงการมันได้ นี่คืออัตตาทิฐิ

ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นของเราอย่างแท้จริง เราไม่อาจจะกำหนด บงการให้อะไร ใคร ให้เป็นอย่างไหน ได้อย่างแท้จริงหรอก สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็คือการสร้างกุศลเหตุปัจจัยให้ดีที่สุด ส่วนผลจะปรากฏอย่างไร เราไม่อาจคาดหวังได้ เพราะเราเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ของปรากฏการณ์นั้น

และโดยความจริง มันก็แสดงตัวให้เราเห็นชัดอยู่แล้ว ว่ามันไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันถึงไม่เป็นได้ดังใจเราปรารถนา หากเราหยุดใจไม่ไหลตามความขุ่นเคือง และใช้ปัญญาพิจารณาสักนิด เราก็จะพบสัจจะความจริงนี้ได้โดยไม่ยาก

การที่มันไม่เป็นดังใจ มันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามันไม่ใช่ตัวตนของตนอย่างที่เรายึด และความขุ่นเคืองที่ปรากฏ มันก็แสดงให้เห็นว่า จิตมันยังไม่ยอมรับความจริงนี้ มันจึงดีดดิ้นปรุงแต่ง

ดังนั้น หากเราสามารถสงบได้ท่ามกลางการกระทบ เพราะสติปัญญามันยอมรับและตัดความยึดติดภายนอกได้บ้าง มันจึงเป็นจังหวะที่ดีที่สุดที่เราจะได้มีโอกาสเรียนรู้อาการและความหลงของจิตภายใน ที่มันจะผุดขึ้นมาอีกเป็นช่วงๆ เพราะผลของความหลงยึดติดที่ยังมี

เปรียบเสมือน การเลี้ยงลูกบาส แม้เราจะหยุดเลี้ยงแล้ว มันก็ยังมี rebound กระเด้งต่อไปอีกสักพักถึงจะหยุด ซึ่งจะเบากว่าไม่รุนแรงเท่าตอนที่เราเลี้ยงอยู่
จิตก็เช่นเดียวกัน แม้อารมณ์ใหญ่จะดับไปแล้ว แต่ผลพวงของมันอันเป็นอารมณ์เล็กๆ และ ความหลงที่เป็นเหตุของอารมณ์ใหญ่มันจะปรากฏ

มันจึงเป็นโอกาสที่ดียิ่งที่เราจะทำการเรียนรู้สังเกตมันตามที่มันเป็นจริง(วิปัสสนา) ไม่ใช่การคิด แต่เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่มันกำลังปรากฏ เพราะทั้งหมดคือความหลงและอาการต่างๆของจิตที่มีอยู่ภายใน

มันอาจจะออกมาในรูปการอ้างนู่นอ้างนี่ ความไม่ยอมนิดๆที่ยังมีอยู่ ความขุ่นเล็กๆที่ยังเป็นควันหลง ฯลฯ นี่ล่ะคือการแสดงออกของตัวตนของเรา ที่เราจะต้องรู้จัก และเข้าใจ เพื่อจะได้ไม่หลงกลมันอีก

และเมื่ออาการเหล่านั้นหมดไป อาจเป็นชั่วโมง หรือวัน ไม่ว่าจะหมดไปเพราะเราเจริญวิปัสสนา หรือสมถะหรือวิธีโลกๆก็ตาม คราวนี้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหยิบยกเรื่องนี้มาคิดพิจารณาย้อนหลังอีกทีหนึ่ง

เพราะมีอวิชชาความหลง จึงทำให้จิตปรุงแต่งเป็นความพอใจไม่พอใจ หากยังยึดความพอใจไม่พอใจนั้นเป็นสิ่งจริง มันก็จะปรุงแต่งสร้างตัณหา เมื่อมีตัณหา หากเรายังไหลตามอำนาจมันอีก มันก็จะนำไปสู่ความยึดมั่นถือมั่นและทุกข์ในที่สุด

ดังนั้น แม้ความพอใจไม่พอใจจะดับไปแล้ว จะด้วยวิธีใดก็ตาม มันไม่ได้จบอยู่แค่นั้น อวิชชาความหลงมันยังอยู่ภายใน เราจึงจำเป็นจะต้องหยิบยกมันขึ้นมาพิจารณา เพื่อถอดถอนความหลงหรือมิจฉาทิฐินั้นเสีย ไม่ใช่ประมาทนอนใจหลงว่าดับไปแล้วมันดีแล้ว หากทำเช่นนั้น มันก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาฝังอยู่ในตัวเรา คอยวันระเบิดรุนแรงเท่านั้น เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อม

มันจึงต้องพิจารณาให้มาก เพื่อถอดถอนความหลงให้สิ้นซาก สร้างปัญญาสัมมาทิฐิให้เกิดเพื่อเป็นทุนในการกระทบครั้งต่อไป มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? เราหลงยึดอะไรบ้างจึงทำให้เกิดเช่นนั้น? สิ่งที่เรายึดมันยึดไม่ได้อย่างไร? เราเปิดจุดอ่อนอะไรก่อนที่มันจะเกิด มารถึงได้ช่องเข้ามา? ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราต้องพิจารณาให้มากเพราะมันคือตัวตนของเราทั้งสิ้น

ตัวตนไม่ใช่แค่เพียงกายหรือจิต ตัวตนที่สำคัญคือความคิดความเห็น ความคิดความเห็นที่เรายึดติดไว้
ความคิดความเห็น เกิดมาจากสัญญาสังขาร หากเราวางสัญญาสังขารได้จริงตัวตนย่อมไม่ถูกยึดติด หากตัวตนไม่ถูกยึดติด เราย่อมต้องวางความคิดความเห็นได้ นั่นล่ะถึงจะได้ชื่อเป็นผู้สิ้นสักกายทิฐิ

ถึงได้พูดเสมอว่า ไม่ใช่แค่พิจารณาว่าขันธ์ห้าไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตนของเราได้แล้วมันจะสิ้นสักกายทิฐิ นั่นมันอยู่ในขั้นการเตรียมตัว ของจริงมันต้องวัดกันตอนกระทบนี่ล่ะ เรายังหวั่นไหวเพราะโลกธรรมหรือเปล่า? เรายังยึดมั่นในความคิดเห็นของเราหรือเปล่า? เรายังหวั่นไหวยินดียินร้ายกับสิ่งที่น่ายินดียินร้ายหรือเปล่า? เรายังหวั่นไหวยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเปล่า? เรายังอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็นอะไรอยู่หรือเปล่า? สิ่งเหล่านี้ล่ะ คือเครื่องชี้วัดสักกายทิฐิของเราอย่างดี

เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสดีๆเช่นนี้ จงเรียนรู้ตน ทำความเข้าใจตนให้ดี เพื่อเราจะได้ละวางตัวตนได้ต่อไป

ส่วนเรื่องภายนอกที่เราต้องจัดการกับผู้อื่น มันไม่มีอะไรมาก ให้ใช้โพธิจิต โพธิจิตที่ต้องใช้ในการสัมพันธ์กับผู้อื่น คือ ความรักความปรารถนาดี(เมตตา)
การช่วยเหลือเสียสละ ทำให้ทุกๆคนที่มาสัมผัสเรามีความสุขและพ้นจากทุกข์(กรุณา)
ยินดี ปลาบปลื้มมีความสุขยามเมื่อผู้อื่นได้ดี(มุทิตา)
และปฏิบัติตนให้เสมอภาคกับทุกๆคนไม่ว่าคนที่ยกย่องหรือคนที่ด่าทอเรา เพราะตระหนักชัดว่าเขาเหล่านั้นล้วนเป็นที่รัก เป็นดั่งพ่อแม่พี่น้องของเราทั้งสิ้น(อุเบกขา)

หากเจริญโพธิจิตได้เช่นนี้ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจผู้อื่น ความทุกข์เพราะผู้อื่นจะไม่มีทางเกิดขึ้น เราจะมีแต่ความสุข และผู้ที่มาสัมพันธ์กับเราก็จะมีแต่ความสุขเช่นกัน

Comments are closed.