ปรมัตถ คืออะไร
ปรมัตถ์ โดยศัพท์แปลว่า สูงสุด, อันยิ่ง
ดังนั้น ปรมัตถสัจ จึงหมายถึงความจริงอันยิ่ง ความจริงอันสูงสุด
ความจริงนั้นมีอยู่ 2 คือ สมมุติสัจ และปรมัตถสัจ
สมมุติสัจ หมายถึงความจริง ที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้น ไม่ใช่ความหมายที่จริงแท้ ไม่ทนต่อการพิสูจน์ แปรเปลี่ยนไปได้ เช่น คน สัตว์ สิ่งของ วัตถุ อารมณ์ต่างๆ ฯลฯ
เข้าใจง่ายๆคือ สิ่งที่เราให้ชื่อ ให้ความหมายมัน ซึ่งประโยชน์คือ เพื่อใช้ในการสื่อแล้วนำมาทำประโยชน์ สมมุติจึงถูกสมมุติขึ้นเพื่อทำประโยชน์เท่านั้น แต่โดยความจริงแล้วมันมิได้มีอย่างนั้น
ส่วนปรมัตถสัจ คือความจริงอันสูงสุด ความจริงอันยิ่ง เป็นสิ่งที่นอกเหนือการปรุงแต่งทั้งปวง ไม่ผันแปร เป็นอยู่เช่นนั้น อย่างนั้น แผ่ซ่านและครอบคลุมไปทั่วทั้งจักรวาล
ซึ่งโดยแท้จริงแล้วมันนอกเหนือความหมาย นอกเหนือคำพูดใดๆ ไม่อาจอธิบายได้ด้วยคำพูด แต่ในเมื่อต้องสื่อกันให้รู้ให้เข้าใจ ก็เลยใส่ชื่อให้มัน เพื่อจะได้พอรู้พอเข้าใจกัน เช่น ไตรลักษณ์สุญญตา ตถตา ซ๊อกเชน พุทธะภาวะ ฯลฯ
ทุกสรรพสิ่งในโลกไม่ว่าจะเป็นวัตถุ สิ่งของ หรือคน สัตว์ บุคคล ล้วนประกอบด้วยความจริงสองเสมอ เช่น สิ่งที่เราเรียกว่า โต๊ะ
“โต๊ะ” เป็นสมมุติสัจ ใช้ทำหน้าที่วางของ หรือทำงาน มีลักษณะแบบที่เรารู้จัก แต่โดยปรมัตถสัจ มันไม่เที่ยงแท้ คงสภาพไม่ได้ ว่างเปล่าจากตัวตนแห่งความเป็นโต๊ะที่แท้จริง มันเป็นเพียงสิ่งสมมุติอย่างหนึ่งเท่านั้นซึ่งมิได้มีอยู่จริงแท้ตามที่เราให้ชื่อมัน
ดังนั้นในการรู้แจ้งเห็นจริง เราจึงต้องรู้แจ้งเห็นจริงในความจริงทั้งสอง โต๊ะเป็นอย่างไร มีหน้าที่อะไร ใช้ประโยชน์อะไร เราก็ต้องรู้ นั่นคือรู้สมมุติ
ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องรู้ว่ามันไม่มีตัวตนของโต๊ะที่แท้จริง มันแปรเปลี่ยน คงสภาพอยู่ไม่ได้ ว่างเปล่าจากความเป็นโต๊ะ มันเป็นเพียงสิ่งที่จิตสมมุติขึ้น
ความรู้ในสมมุติ ทำให้เรารู้จักนำมันมาใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้น
ส่วนความรู้ในปรมัตถทำให้เราไม่หลงยึดติดในมันซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์
ดังนั้น ไม่ว่าสิ่งใดๆ จะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรืออะไรก็ตาม เราจำเป็นต้องรู้ความจริงทั้งสองนี้เสมอ จะเอาข้างเดียวไม่ได้ เรียกว่า
รู้ทั้งสองด้าน ใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองด้าน แต่ก็ไม่เอาทั้งสองด้าน
จิตที่รู้จักแจ้งชัดในสมมุติและรู้จักเอามันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นรียกว่า โพธิจิตสัมพันธ์ (Relative Bodhicitta)
ส่วนจิตที่แจ้งชัดในปรมัตถสัจ จนไม่หลงหมายมั่นยึดติดในสิ่งนั้นๆ เรียกว่าโพธิจิตอันยิ่ง ( Ultimate Bodhicitta )
ดังนั้นในการปฏิบัติ จึงต้องปฏิบัติด้วยโพธิจิต เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ มิฉะนั้นก็ไม่อาจ รู้แจ้งหลุดพ้นได้อย่างแท้จริง
หากยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง ผลก็คือ เรายังไม่สามารถดึงสมรรถณะภายในออกมาได้อย่างเต็มที่ หรือเรียกอีกอย่างว่า ยังพัฒนาไม่จบ ยังไม่ถึงเป้าหมายแห่งการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา
จงจำไว้ว่า
ถ้าโง่ในสมมุติ ชีวิตก็ไร้ค่า ทำประโยชน์อะไรไม่ได้
ถ้าไม่แจ้งในปรมัตถ์ ชีวิตก็มีแต่ทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดไม่หยุดหย่อน