วิธีการบ่มเพาะความเมตตา
ความเมตตากรุณาเกิดจากความรักความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นสิ่งที่จะนำพาให้ผู้ปฏิบัติและผู้รับไปสู่ความสุข
ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัว ซึ่งเกิดจากความหลงยึดมั่นถือมั่นในตน ย่อมนำไปสู่ความทุกข์ทั้งต่อตัวผู้กระทำและทุกๆชีวิตรอบข้าง
ทุกชีวิตล้วนต่างปรารถนาความสุขและไม่อยากทุกข์ แต่ทำไมมนุษย์เรากลับขยันสร้างแต่เหตุแห่งทุกขฺเล่า
ความเมตากรุณาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องฝึกให้มีต่อสรรพชีวิตทั้งหลายอันไม่มีประมาณไม่มีการแบ่งแยก(อัปมัญญา) เพื่อความสุขของตนเอง และสรรพชีวิตทั้งปวงรวมทั้งเพื่อความสุขสงบสันติของโลกใบนี้
วิธีการฝึก
เบื้องต้นเราต้องพิจารณาให้เกิดปัญญาแจ้งชัดในสัจธรรมดังนี้ก่อน
- พิจารณาให้เห็นแจ้งชัดว่า ทุกชีวิตล้วนเป็นดังเพื่อน ดังญาติมิตร ทุกชีวิตต่างปรารถนาความสุขและเกลียดทุกข์ทั้งสิ้น แล้วทำไมเราจะไม่ทำให้ญาติมิตรของเรามีความสุขเล่า
- พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า เนื่องเพราะเราต่างเวียนว่ายตายเกิดมานับกัปไม่ถ้วน ดังนั้น สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนเคยเป็นพ่อแม่เรามาอย่างน้อยหนึ่งชาติ ดังนั้น จงมองให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นนล้วนเป็นที่รัก และมีเคยมีบุญคุณต่อเรา เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้เขามีความสุข
- แม้ในชาตินี้เองก็ตาม ทุกชีวิตไม่ว่าคนหรือสัตว์ ต่างก็เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ต่อกันทั้งสิ้น การกระทำของชีวิตหนึ่งย่อมส่งผลต่อชีวิตอื่นๆอีกมากมาย หากเราทำดีผลดีก็แผ่กระจายทำให้ทุกคนมีความสุข หากทำชั่วผลร้ายหรือความทุกข์ก็แผ่กระจายเช่นกัน
- หากเราต้องการจะมีความสุข จงทำให้ทุกชีวิตที่เข้ามาสัมพันธ์กับเรามีความสุข และหากเราต้องการจะทำให้ทุกชีวิตมีความสุข ก็จงปฏิบัติต่อเขาด้วยความรักความปรารถนาดี ด้วยความเมตตากรุณา
เมื่อเราพิจารณาได้เช่นนั้น จนจิตมันยอมรับ ให้นำสัมมาทิฐินั้นมาตั้งมั่น ยามที่จะต้องสัมผัสสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือชีวิตอื่นจงตระหนักในสัมมาทิฐินั้นให้ดี พร้อมทั้งฝึกตนที่จะ
- อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถือดีทะนงตน จงคิดเสมอว่าตนนั้นไม่มีอะไร ไม่ยิ่งใหญ่ ไม่เก่งกาจ ตนเป็นเพียงคนธรรมดาๆผู้ต่ำต้อย
- จะกระทำอะไรให้เอาประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง หากเราลำบากคนเดียวเพื่อให้ผู้อื่นสบาย จงยินดีกระทำสิ่งนั้น
- หัดเป็นผู้ให้แทนการเป็นผู้รับ จงยอมเสียสละดีกว่าดิ้นรนเพื่อจะเอาเข้าตัว และจงให้เปล่าโดยมิต้องหว้งสิ่งใดแม้กระทั่ง คำขอบคุณ
- ไม่เบียดเบียนใครทั้งสิ้น แต่ยอมให้ผู้อื่นเบียดเบียนโดยไม่ผูกใจโกรธ
- ยอมเป็นผู้แพ้ อย่าได้เอาชนะหรือแข่งดีแข่งเด่นกับใคร โดยเฉพาะทางด้านความคิด
- หากถูกเหยียดหยาม ดูถูก หรือเอาเปรียบ หรือทำให้ทุกข์ จงถือเขาเหล่านั้นเป็นดังครูที่รักยิ่งผู้กำลังทดสอบคุณธรรมของเรา
ทุกๆ เช้าให้ทบทวนตนเช่นนี้ และตั้งใจที่จะกระทำให้ได้ ในตอนค่ำจงทบทวนข้อบกพร่องของตนที่เกิดแล้วพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุง
หากเรากระทำได้ดังที่กล่าวมานี้ ไม่นาน เราจะเป็นผู้มีเมตตาได้ตลอดเวลาดังเช่นโพธิสัตว์ทั้งหลาย และเราจะมีแต่ความสุข