เนื่องในโอกาสวันครู

เนื่องในโอกาสวันครู

เนื่องในวันครูนี้ ข้าขอนอบน้อมแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระบรมครูผู้ประเสริฐของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระบรมครูผู้เทิดทูลสูงสุดของข้าน้อย หากปราศจากท่าน ตัวข้าน้อยคงต้องมืดบอดไปอีกนับชาติไม่ถ้วน

ข้าน้อยขอถือโอกาสเรียบเรียงบทความ

“ความจริงของพระพุทธศาสนา”

เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง อันจะช่วยทำให้ตนและโลกนี้ ไปสู่ความสงบสุขสันติอย่างแท้จริง

  1. พุทธศาสนาสอนให้คนมีเหตุมีผล มีความละเอียดอ่อนแยบคายกับทุกสิ่งที่ตนรับรู้ เพื่อการรู้เท่าทันสรรพสิ่งตามความเป็นจริง พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนเชื่อแบบงมงาย หรือเพียงเชื่อแล้วไม่นำไปปฏิบัติพัฒนาตน
  2. พุทธศาสนาสอนให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏต่อการรับรู้ ล้วนเป็นเพียงปรากฏการณ์แห่งการถึงพร้อมของเหตุและปัจจัย ไม่มีตัวตน คน สัตว์ หรือสมมุติใดๆดั่งที่บัญญัติกันที่แท้จริง
  3. เมื่อสิ่งทั้งปวงเป็นเพียงปรากฏการณ์แห่งเหตุปัจจัย มันจึงเป็นแค่กลุ่มก้อนขององค์ประกอบอันหลากหลาย เป็นดั่งภาพมายา ดั่งรุ้งกินน้ำ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนที่เราสมมุติให้ชื่อมัน
  4. แต่บนความว่างนั้น ก็มีการปรากฏของปรากฏการณ์นั้นๆ มิใช่ว่างเปล่าดับสูญ ไม่มีอะไรเลย ดั่งเช่นที่ว่าง
    และบนการปรากฏนั้น ก็คือความว่างเปล่าจากตัวตนที่ปรากฏ หรือว่างเปล่าจากความเป็นสมมุตินั้น
  5. สัจจะความจริงในโลกจึงมี 2 เสมอ คือ ปรมัตถสัจ และสมมุติสัจ
    – สมมุติสัจ คือ สิ่งที่บัญญัติกันขึ้น เพื่อการจำแนกแยกแยะ และใช้ประโยชน์ เป็นอัตตลักษณะของปรากการณ์หนึ่งๆ
    – ปรมัตถสัจ คือ ความจริงที่อยู่นอกเหนือคำพูดหรือบัญญัติทั้งหลาย
  6. ชาวพุทธจึงมีหน้าที่ศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับสัจจะทั้งสอง เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา
  7. สิ่งบัญญัติทั้งหลาย คือ สิ่งปรุงแต่ง ยังแยกได้อีกเป็นสอง คือ สิ่งปรุงแต่งที่เป็นประโยชน์ (บุญญภิสังขาร) และสิ่งปรุงแต่งที่เป็นโทษเป็นทุกข์ (อบุญญาภิสังขาร)
  8. การสอดคล้องกับความจริงทั้งสอง คือ ดุลยภาพระหว่างสมมุติกับปรมัตถ์ คือทางสายกลาง
  9. สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏมีเป็นในโลก (โลกิยธรรม) ล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งสิ้น
    พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ปฏิเสธ หนี หรือทำลายสิ่งเหล่านี้
    ตรงกันข้าม ท่านกลับสอนให้เราเรียนรู้ที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้ได้ โดยไม่ให้ยึดติดมัน
  10. การปล่อยวางจึงไม่ใช่การเมินหนี การปฏิเสธ การเมิยเฉย หรือการทำลาย
    การปล่อยวาง คือ การสอดคล้องกับความจริงทั้งสอง และสามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้ แต่มิได้ยึดมั่นถือมั่น
  11. พุทธศาสนาจึงไม่สอนให้ใครปักใจลงไปในอะไร ว่า จริงแท้ มีแท้ หรือ ไม่จริง ไม่มี
    หากเราปักใจลงไปว่าจริงแท้ เราก็จะหลงยึดติดอยู่ในสมมุติ
    หากเราปักใจลงไปว่าไม่จริง ไม่มี เราก็จะปฏิเสธสมมุติ
    ซึ่งทั้งสอง คือ ต้นเงื่อนแห่งความอยากและความเกลียดชัง ซึ่งไม่ใช่ทาง
  12. เรื่องเทพเจ้า พระเจ้า หรืออะไรทำนองนี้ ก็เช่นเดียวกัน ท่านไม่ได้ตัดลงไปว่า จริง หรือไม่จริง มีหรือไม่มี ท่านไม่ได้สอนให้ต่อต้าน รังเกียจเดียดฉันท์ หรือปักใจเชื่องมงาย
  13. เนื่องเพราะ ทุกสิ่งที่บัญญัติกันขึ้น ล้วนเป็นเพียงการถึงพร้อมของเหตุปัจจัย เป็นเพียงมายาภาพ
    พระเจ้า มนุษย์ เกิด ตาย สุข ทุกข์ ขันธ์ห้า โลกิยะ โลกุตตระ สังสารวัฏ นิพพาน ก็ล้วนเป็นเพียงมายา
    หากปักลงไปที่ใดที่หนึ่ง ก็ยังเป็นความหลง เป็นความยึดติด เป็นแดนเกิด ไม่อาจพ้นทุกข์ได้ ไม่อาจสู่จุดหมายที่แท้จริงได้
  14. เพราะสิ่งทั้งหลาย ล้วนเป็นเพียงปรากฏการณ์แห่งการรับรู้ และ จิตคือสิ่งที่ไปรับรู้แล้วตีความให้ความหมาย ให้คุณค่า
    ดังนั้น ทุกอย่างที่ปรากฏว่าเป็นอะไร อย่างไร ถูก ผิด ดี ชั่ว ล้วนขึ้นอยู่กับจิตที่รับรู้นั้น
  15. หากจิตที่รับรู้ประกอบด้วยสิ่งมัวหมองบดบัง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์หรือความหลง ผลย่อมสร้างทุกข์ให้เกิดขึ้น
    แต่หากจิตที่รับรู้นั้นบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งมัวหมองใดๆ ผลย่อมคือ บรมสุขแห่งนิพพานบนการรับรู้นั้น
  16. ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนให้ทุกคนฝึกจิตตนเอง เรียนรู้จิตของตน แก้ไขข้อผิดพลาดที่มีอยู่ของตน
    เมื่อจิตได้รับการฝึกอย่างดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ตามลำดับขั้นไปเรื่อยๆ จนถึงบรมสุขที่นอกเหนือสุขทุกข์ของโลก
  17. มันจึงไม่เกี่ยวกับ มีพระเจ้าหรือไม่มี มีผู้สร้างหรือไม่มี
    พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการฝึกตน มองตน เตือนตน แก้ไขตน พัฒนาตน เพื่อยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
  18. จิตเดิมแท้นั้นบริสุทธิ์อยู่แล้วในตัวมันเอง แต่เพราะมีสิ่งมัวหมองคือความหลง ความไม่รู้แจ้งในความจริงทั้งสองมาประกอบจิตในขณะที่รับรู้นั้น จึงทำให้เกิดตัณหา ความยึดมั่น และสร้างทุกข์ให้เกิดขึ้น
  19. ดังนั้น บนเสันทางแห่งการปฏิบัติ จึงไม่ใช่การสร้างอะไรใหม่ๆให้เกิดขึ้น ไม่ใช่การต่อเติมเสริมแต่ง ไม่ใช่เพื่อการได้ดีมีเป็น อะไรทั้งสิ้น
    ตรงกันข้าม กลับเป็นการปฏิบัติเพื่อการละ การวาง การปลด การปลง
    แต่หากปฏิบัติเพื่อการได้ดีมีเป็น ไม่ว่าจะเป็นอะไร แม้กระทั่งเป็นผู้หลุดพ้น นั่นไม่ใช่หนทางของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ทางไปสู่ความพ้นทุกข์ แต่เป็นหนทางแห่งความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะนำไปสู่ความถือดีทะนงตนในที่สุด
  20. เนื่องเพราะสัจจะมีสอง จิตที่ฝึกดีแล้วจึงต้องสามารถสอดคล้องกับสัจจะทั้งสองได้อย่างเป็นธรรมชาติ
    การสอดคล้องกับปรมัตถสัจ คือ การยังประโยชน์ตน ซึ่งมีรากฐานอยู่บนการปล่อยวาง
    ส่วนการสอดคล้องกับสมมุติสัจคือการยังประโยชน์ท่าน ซึ่งมีรากฐานบนความรักความเมตตากรุณา
  21. ดังนั้น รากฐานที่สำคัญของพระพุทธศาสนา คือ ความแจ้งชัดในความเป็นมายาของสรรพสิ่ง (สุญญตา) และมหากรุณาจิต
    เป้าหมายของพระพุทธศาสนา คือ สอนให้มนุษย์ทุกคนพัฒนาตนเพื่อยังประโยชน์ตนให้สำเร็จ และยังประโยชน์ท่านให้สูงสุดคือ นำทางสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่ความพ้นทุกข์ต่อไป
    วิถีทางของพระพุทธศาสนาคือการมองตน เรียนรู้ตน แก้ไขตน พัฒนาตน เพื่อประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงที่สุด
  22. การหลุดพ้น จากทุกข์ทั้งปวงในพระพุทธศาสนาไม่ใช่การหลุดจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง หรือจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง แม้กระทั่งนิพพาน
    แต่คือ การพ้นแล้วซึ่งความอยากความต้องการและความเกลียดความกลัวใดๆ
    มีแต่ความสงบเย็น เบิกบาน อิสระ และเพียบพร้อมด้วยความรักความเมตตากรุณาอันบริสุทธิ์จากภายใน
  23. ความเกลียดชัง ความโง่เขลา อารมณ์อันมัวหมอง ความรุ่มร้อนความถือดีทะนงตน มิใช่วิถีทางของพุทธศาสนา
    วิถีทางแห่งพุทธศาสนาเต็มไปด้วยความรัก ความเมตตา ความบริสุทธิ์ ความสงบเย็น และปัญญา
  24. หากมนุษย์ทุกคนพากเพียรปฏิบัติตามวิถีทางที่ถูกต้อง โลกย่อมสงบสุข สันติ หมดสิ้นสงคราม ดั่งยุคพระศรีอารย์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการมาจุติขององค์พุทธะทั้งหลาย
  25. ขอชาวพุทธทั้งหลายจงตระหนักไว้ให้ดีว่า ความทุกข์ทั้งปวงล้วนเกิดจากการหลงยึดมั่นถือมั่นสิ่งที่เป็นมายา ไร้สาระแก่นสาร ว่าเป็นสิ่งจริงมีสาระ
    อันเป็นผลจากจิตรับรู้ที่ประกอบด้วยความหลง
    เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนให้พ้นจากความหลงนี้ ให้จงได้
  26. ซึ่งปัจจัยสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้เราพัฒนาไปได้นอกจากความพากเพียรของตัวเราเองแล้ว
    ก็คือ “ครู ผู้เป็นกัลยาณมิตร” นั่นเอง

 

เจริญธรรม

Comments are closed.