จงพากเพียรไปตลอดชีวิตเถิด

จงพากเพียรไปตลอดชีวิตเถิด

จิตมีคุณสมบัติในการรับรู้
เมื่อถูกอวิชชาประกอบ จึงหลงเข้าไปติดในการรับรู้นั้นเรียกว่า อุปาทาน

ลำดับแรก เริ่มเกิดจากความหลงว่า กระบวนการหรือปรากฏการณ์แห่งการรับรู้นั้นมีอยู่จริง คือมีการรับรู้และสิ่งที่ถูกรับรู้นั้นจริง นั่นหมายความว่า ย่อมหลงในปรากฏการณ์แห่งการรับรู้ที่ปรากฏ และหลงในความหมายของสิ่งที่ถูกรับรู้นั้น ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงมายาอาการตามธรรมชาติธรรมดาๆ เท่านั้น

ต่อไป จิตที่หลงจะปรุงแต่งต่อเติมคุณค่าให้แก่สิ่งนั้นเพิ่มเข้าไปอีก เป็นบวก(เพราะอภิชฌาในกาลก่อน(สัญญา)) เกิดราคะ และเป็นลบ(เพราะโทมนัสในกาลก่อน(สัญญา)) เกิดปฏิฆะขึ้น ซึ่งจะทำให้ความยึดติดก็จะแน่นหนามากขึ้นเป็นการหลงยึดในคุณค่าความหมายนั้นเป็นสิ่งจริงแท้ มีอยู่จริง เป็นจริงเช่นนั้น หาใช่มายาที่จิตปรุงแต่งขึ้นเองไม่

ซึ่งจะทำให้ความยึดติดก็จะแน่นหนามากขึ้นเป็นการหลงยึดในคุณค่าความหมายนั้นเป็นสิ่งจริงแท้ มีอยู่จริง เป็นจริงเช่นนั้น หาใช่มายาที่จิตปรุงแต่งขึ้นเองไม่

จิตจะยึดมั่นในสัญญาสังขารนี้อย่างเหนียวแน่นอยู่ภายในไปตลอดชีวิต จนกว่าจะมีปัญญาสลายอวิชชาได้หมด ยิ่งตอกย้ำการรับรู้นั้นเท่าไร ก็ยิ่งเหนียวแน่นมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ยามใดที่จิตทำการรับรู้โดยขาดสติปัญญา (ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้วของปุถุชน) ความหมายและคุณค่าที่หลงอยู่ก็จะสะท้อนออกในการรับรู้นั้นอย่างคล่องตัว แล้วสมองก็ยึดเอาสัญญาสังขารนี้ไปคิดปรุงแต่งอีกที เกิดความพอใจและไม่พอใจหรือเฉยๆ (แบบหลง) ต่อไป
ตอกย้ำซ้ำเติมความยึดติดเข้าไปอีกเป็นเท่าทวี

กระบวนการนี้จะยิ่งเป็นมากขึ้น หนาขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และรุนแรงขึ้นหากมีอารมณ์หรือการเติมแต่งสภาพบวกลบต่างๆประกอบเข้าไปอีก
ผลคือเรายิ่งหลงว่ามันจริงๆ เช่นนั้นมากยิ่งขึ้น จนแทบจะหมดโอกาส ที่จะมองเห็นความจริงได้เลย

จนกว่าจะมีผู้รู้มาชี้บอกให้เราเห็นความจริง และเราบังเกิดศรัทธา นำไปศึกษาพิจารณาปฏิบัติ แล้วค่อยๆ ลอกความหลงออกทีละชั้น มิฉะนั้น มิอาจจะรื้อถอนอุปาทานนี้ได้

แต่อย่าลืมว่า เพราะการปรุงแต่งมันซับซ้อน กว่าจะลอกความหลงออกได้หมด จำต้องใช้ความละเอียดอ่อนแยบคายในการเจริญ ความเพียรอย่างมาก
มันไม่ใช่อะไรอื่นที่หลอกเรา แต่เป็นความเคยชินเดิมๆ ของเราต่างหากที่หลอกตัวเองมานานแสนนาน
เรายึดเช่นนั้น หลงว่ามันจริงเช่นนั้น มันมีคุณค่าความหมายอย่างนั้น นั่นล่ะที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์

แต่ขันธ์ก็มีหลายตัวหลายระดับซับซ้อนกัน ตัวหนึ่งส่งผลต่อตัวอื่น ตัวหนึ่งเป็นเหตุปัจจัยของตัวอื่นๆ เป็นดังใยหยากไย่ ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

กระบวนการในการลอกออกจึงจะต้องค่อยๆ เริ่มจากสิ่งหยาบๆ คุณค่าหยาบๆ ภายนอก ไปจนถึงคุณค่าหยาบๆ ภายใน และลงไปถึงความหมายต่างๆ ที่เคยหมายมั่นไว้ ไปจนถึงมายาของปรากฏการณ์ทั้งปวง และที่สุดที่สภาพธรรมชาติดั้งเดิมอันเป็นจุดกำเนิดเริ่มต้น

ซึ่งจะกระทำเช่นนั้นได้ ต้องใช้สติสมาธิปัญญาที่ละเอียดอ่อนแยบคายอย่างยิ่ง จะเอาแบบมักง่าย แค่ความสงบเบาสบาย แค่เกิดดับ แค่ไตรลักษณ์ แค่ว่างนั้น ย่อมยังมีช่องมากมายให้มารเข้าแทรก
ผลก็คือ ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากโครงข่ายของมารได้เลย หลุดตัวหนึ่งก็ไปติดตัวหนึ่ง หลุดหยาบก็ไปติดละเอียด

ดังนั้น ขอนักปฏิบัติทั้งหลายจงอย่าได้เกียจคร้าน หรือประมาทนอนใจหลงชื่นชมจมแช่ในผลแห่งการปฏิบัติที่เกิดขึ้น
อย่าปฏิบัติด้วยตัณหา อย่าหลงได้ดีมีเป็นในการปฏิบัตินั้น

จงตั้งใจปฏิบัติด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่เฉื่อยชา แต่ก็ไม่ดิ้นรนทะยานอยาก
จงปฏิบัติด้วยความสุขุม ละเอียดอ่อน แยบคาย หมั่นศึกษาเรียนรู้พิจารณาเพิ่มเติมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่ด่วนสรุป
หมั่นศึกษาสนทนาธรรมกับผู้รู้ด้วยใจที่เปิดรับ เพื่อให้ตนได้ทราบถึงข้อบกพร่องที่ตนยังมีอยู่

อย่าได้เย่อหยิ่ง หลงทะนงตน ภาคภูมิอยู่ในผลที่เกิด
และจงพากเพียรศึกษาปฏิบัติไปจนตลอดชีวิตเถิด

อย่าให้ได้ชื่อว่า
คนเขลาผู้หลงน้ำในรอยเท้าวัว ว่ายิ่งใหญ่ดังน้ำในมหาสมุทรเลย

Comments are closed.