ความสืบเนื่อง

ความสืบเนื่อง

การจะปฏิบัติไม่ว่าแบบใด
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้สืบเนื่องซึ่งคือความตั้งมั่น คือสัมมาสมาธิ
ยิ่งการปฏิบัติด้วยสุญญตาด้วยแล้ว ยิ่งต้องอาศัยอินทรีย์ที่แก่กล้ามาก
อันเป็นวิสัยของโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญมาดีแล้ว

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า
เมื่อเราเข้าใจสุญญตาได้ แต่อินทรีย์เรายังไม่พร้อม ตั้งมั่นไม่ได้
เราต้องกลับไปดิ้นรนพยายามที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อการได้ดีมีเป็นของตนเสียก่อน
จึงจะตั้งมั่นสืบเนื่องได้

เมื่อสามารถเข้าใจวิถีทางทางนี้ได้ อันคือการปฏิบัติด้วยโพธิจิต
มันก็เป็นเหตุปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินต่อไปได้ง่ายและถูกตรง

แต่บนการหลุดพ้น สิ่งสำคัญสองอย่างที่ต้องมีประกอบกันคือ สติและปัญญา
สติ คือ การรู้เท่าทันปรากฏการณ์ที่กำลังปรากฏ
ปัญญา คือ การรู้แจ้งความจริงของปรากฏการณ์นั้นทั้งสมมุติสัจและปรมัตถสัจ

สาเหตุที่นักปฏิบัติบนทางทางนี้ ไม่สามารถตั้งมั่นอยู่บนสัมมาทิฐิแห่งความว่างนั้นได้
ก็เพราะสติปัญญายังไม่แยบคายพอ
ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนา

แต่บนการพัฒนา มันก็ต้องอยู่บนรากฐานของสัมมาทิฐิที่ว่า “มันไม่มีใคร ที่ทำอะไร
เพื่อการได้ดีมีเป็นอะไร”
แต่มันเป็นการสร้างเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อมเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายเท่านั้น

ความต้องการบรรลุเป้าหมายที่เป็นกุศล(ฉันทะแห่งอิทธิบาท) เป็นสิ่งจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะในช่วงแรกๆที่อินทรีย์เรายังอ่อนอยู่

ความใส่ใจ ความมุ่งมั่น ทุ่มเทแบบเกินร้อย เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องมีอย่างเข้มแข็ง
แม้มันจะเป็นเจตนา เป็นอัตตา เป็นกรรม แต่ก็เป็นกุศลกรรม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงครึ่งต้น

จะทำแบบเฉื่อยแฉะ ทำเป็นไม่ยึดติด ทำแบบย่อหย่อน จับหลวมๆสบายๆ หรือไม่ปฏิบัติอะไรเลย เพราะคิดว่ามันว่าง เช่นนั้น กิเลสก็ลากเอาไปกินหมด

ความต้องการที่เป็นอุปสรรค
คือความอยากได้ดีมีเป็นเพื่อตนเอง อยากหลุดพ้น อยากแม้กระทั่งนิพพาน นั่นล่ะ มันเป็นอัตตาเพื่ออัตตา นั่นมิได้เข้าใจสุญญตาเลย

แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงจัง ด้วยโพธิจิตเป็นเครื่องเสริมอย่างยิ่ง เป็นเครื่องเกื้อกูล และกลับช่วยให้หนทางอันยาวไกลนั้นถึงได้โดยง่าย

ดังนั้น
เมื่อเข้าใจชัดในสุญญตา ก็ให้มุ่งหน้าดำเนินโพธิจิต พากเพียรสร้างเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อม เพื่อความหลุดพ้นอันสูงสุด เพื่อจะได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์อันนับไม่ถ้วน ผู้เคยเป็นพ่อแม่ของเรามาในอดีต เถิด
อย่าได้เกียจคร้าน เฉไฉ มักง่าย หรือประมาทนอนใจเลย

Comments are closed.