ปฏิจจสมุปบาท #2

ปฏิจจสมุปบาท #2

ประเด็นสำคัญที่จะต้องเข้าใจไว้ ก็คือ

  1. ที่ชื่อว่า “การเห็นปฏิจจสมุปบาท” นั้น ไม่ใช่แค่ความเข้าใจในกระบวนการปฏิจจสมุปบาท 11 อาการ ที่เราท่องบ่นกันเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเห็นแจ้งเห็นจริง ในกระบวนการทั้ง 11 นี้ด้วยสติและปัญญา รวมถึงการเห็นแจ้งเห็นจริงในกระบวนเกิดขึ้นและดับไปของกระแสเหตุปัจจัยที่ทำให้ปรากฏการณ์นั้นๆปรากฏ
  2. ที่ชื่อว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต” ก็อย่าได้หมายเอา ตถาคตในลักษณะแห่งรูปลักษณ์ แบบที่ชอบหลงปรุงแต่งเอา พอปฏิบัติธรรมไป มีนิมิตภาพพระพุทธเจ้าปรากฏ ก็หลงปรุงแต่งเอาว่า ตนได้เห็นธรรมบ้าง พอเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาแสดงธรรม ก็หลงปรุงแต่งในธรรมที่แสดงนั้น เป็นของจริงของวิเศษที่มาจากตถาคตจริงๆบ้าง
    ซึ่งทั้งหมด ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย นอกจากการปรุงแต่งของจิตตนเท่านั้น แล้วเลยพาลไปสร้างตัวตนอันใหญ่โต ว่าตนเป็นผู้พิเศษ ผู้รู้ธรรม ประมาทหลงจมอยู่อย่างนั้นโดยมิอาจถอน

    ตถาคตที่แท้คือ ความเป็นธรรมดาอย่างนั้นเองของปรากฏการณ์ มันไม่ใช่ทั้งจริงแท้และไม่จริงแท้ มันเป็นเพียงกระแสแห่งเหตุปัจจัยอันเป็นมายา ผู้ใดเห็นแจ้งรับรู้ปรากฏการณ์ต่างๆที่ปรากฏได้เช่นนี้ จะไม่มีการหวั่นไหวของจิตใดๆอีก จิตไม่มีการไปการมา ไม่มีหยุดไม่มีอยู่ ไม่มีที่ตั้ง ปรากฏการณ์ทั้งหลายไร้ความหมาย ราบเรียบเสมอเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยกแตกต่าง ผู้ใดเห็นแจ้งได้เช่นนี้ตามเป็นจริงที่กำลังปรากฏ นี่จึงชื่อว่า “เห็นตถาคต”

  3. มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบอ่านเอา คิดเอา จนเข้าใจชัด แล้วเราจะได้ชื่อว่า “เห็นปฏิจจสมุปบาท” แบบที่ชอบฝันกัน มันเป็นเรื่องของ ความตั้งมั่นบนสติปัญญาที่มีความละเอียดอ่อนแยบคายอย่างยิ่ง ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนตนอย่างถูกวิธีอันยาวนานเท่านั้น

ตรวจสอบตนเองได้ง่ายๆก็คือ หากเรายังหลงอารมณ์หยาบๆอยู่ เช่น อารมณ์โลกธรรม อารมณ์ที่น่ายินดี อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ฯลฯ นั่นแสดงว่า ความเข้าใจในเรื่องปฏิจจสมุปบาทของเรายังใช้ไม่ได้เลยแม้แต่น้อย ยังไม่ต้องพูดถึงความรู้แจ้งด้วยซ้ำ

แล้วเราจะเห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาทได้อย่างไร?

สิ่งสำคัญที่จะต้องเริ่มศึกษาและฝึกฝน คือ มหาสติปัฏฐานสี่แบบที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อย่างแยบคาย ไม่ใช่ในแบบที่คนยุคนี้เอาตัดทอนจนกลายเป็นมรรค(มัก)ง่ายแบบที่สอนๆกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณากายทั้ง 5-6 แบบ การพิจารณาเวทนาทั้งอามิสและนิรามิส การพิจารณาอาการของจิตอันหลากหลาย และการพิจารณาธรรมในปรากฏการณ์นั้นๆทั้ง 4-5 เรื่อง

เราจำเป็นจะต้องศึกษาฝึกฝนให้มีความเข้าใจแจ้งชัดทั้งหมด ชนิดที่เรียกว่า ไม่มีสิ่งใดที่พระพุทธองค์กล่าวไว้ เราจะไม่เข้าใจ เรายังไม่ได้ทำ เราไม่เห็นแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้ สมุทยธัมมา วยธัมมา และสมุทยวยธัมมา นี่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญของการจะเห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาทต่อไป

มันจึงไม่ใช่แค่เพียงการเห็นเกิด-ดับของสภาวะเท่านั้น การเห็นสภาวะเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป หากเรามิสามารถแจ้งชัดในเหตุปัจจัยแห่งการเกิด ความเสื่อมสลายที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลาในขณะที่มันตั้งอยู่ และเหตุปัจจัยแห่งการดับ ตามที่มันเป็นจริง เราไม่มีทางจะเข้าใจขบวนการปฏิจจสมุปบาทที่แท้จริงได้

อย่าไปหลงคิดว่า
แค่มีสติรู้เท่าทันสภาวะเกิดดับ แล้วมันจะเกิดปัญญาพ้นทุกข์เอง อาจเป็นได้แต่นานนับกัป

หรืออย่าไปหลงว่า “การคิดมันไม่ดี มันเป็นวิปัสสนึก ไม่ใช่วิปัสสนา” จนไม่ยอมคิดพิจารณา ยังไงๆปัญญาจะเกิดมันต้องอาศัยกระบวนการ 3 อย่างเสมอ คือ ฟัง คิดพิจารณา และสังเกตุเรียนรู้ หากฟังยังไม่เข้าใจแล้วจะเอาอะไรไปคิด หากคิดยังคิดไม่ได้ แล้วจะไปดูอะไรเห็น หากดูอะไรไม่เห็นแล้วจะรู้แจ้งเห็นจริงได้อย่างไร
ดังนั้น เมื่อถึงพร้อมซึ่งปัญญาทั้ง 3 เท่านั้น จึงจะเกิดปัญญาวิปัสสนาได้

ดังนั้น ขอให้พากเพียรศึกษาและฝึกฝนตนให้มากเสียแต่วันนี้ ธรรมแท้แม้อยู่อีกไกล ก็จะมาถึงได้โดยง่าย

อย่าเสียเวลากับธรรมปลอมที่จิตเรามันปรุงแต่งหลอกเอา แล้วเราจะไม่ได้อะไรเลยนอกจากการเกิดตาย

Comments are closed.