สักกายทิฐิ

สักกายทิฐิ

เหตุการณ์ในแวดวงพุทธศาสนาบ้านเราที่กำลังเกิดขึ้น เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นอย่างดี ถึงรากเหง้าของปัญหาในสังคมนักปฏิบัติเรา ที่เน้นสอนให้ปฏิบัติเพื่อการได้ ดี มี เป็น กันอย่างไม่รู้ตัว

การหลงนิมิต หลงความสงบ หลงความสุข หลงสภาวะ หลงการปรุงแต่งที่จิตเสกสรรขึ้น หลงการหลุดพ้น
หลงหมายมั่นนิพพาน(ในแบบของตน)
ปล่อยตัวจมแช่ ยึดมั่นไปกับสังขารเหล่านั้น

ซ้ำร้ายกว่า ยังพากันงมงายไปถึง เรื่องพระธาตุ เรื่องเทพเทวดา
เรื่องนรกสวรรค์ เรื่องกรรมเวร ในลักษณะสิ่งที่มีอยู่จริงเป็นตัวเป็นตน
หลงเทิดทูนเรื่องสภาวะแปลกๆพิเศษที่เกิดขึ้น
เรื่องการปรากฏตัวของพระอริยะ หรือพระพุทธเจ้าในสมาธิ
แม้กระทั่งเรื่องฤทธิเดชต่างๆ
ว่าเป็นสิ่งที่น่ามี น่าเป็น
ผู้ใดมี หรือประสบพบเจอ ก็เป็นที่ชื่นชอบได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ปฏิบัติดีๆ ปฏิบัติเก่ง

มันจึงกลับเป็นการตอกย้ำและผลักไสให้นักปฏิบัติผู้มีความมุ่งมั่นพากเพียรที่จะเดินไปในทางไขว่เขวออกนอกทางโดยไม่รู้ตัว

คำว่าปัจจัตตัง ก็ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่ผิด ใช้เพื่อเสริมสร้างตัวตนของตน
มันเลยกลายเป็น
“กูรู้ได้เฉพาะตัวกู คนอื่นไม่รู้ไม่เห็นเหมือนกู”
เสริมสร้างทิฐิมานะให้พอกพูนหนาขึ้น แทนที่จะละวางสักกายทิฐิ

สมถะซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่วิปัสสนา ก็ถูกนำมาใช้ด้วยความหลง ความไม่รู้
ไม่รู้ว่าสมถะแตกต่างจากวิปัสสนาอย่างไร
ไม่รู้ว่าอะไรคือสมถะ อะไรคือวิปัสสนา
ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะใช้สมถะ เมื่อไรจะใช้วิปัสสนา
ไม่รู้ว่าอะไรเป็นผลจากสมถะ หรืออะไรเป็นผลจากวิปัสสนา
ซ้ำร้ายกว่านั้น บางคนกลับดูถูกสมถะจะเอาแต่วิปัสสนา มันก็เลยไม่สามารถวิปัสสนากันได้จริงสักที

บนการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อย่างครบถ้วน ก็ถูกแยกส่วน ปฏิบัติแบบมักง่าย ขาดความสมบูรณ์ ครบตามพุทธประสงค์
แต่กลับเน้นวิธีการที่ตนหลงปรุงแต่งกันเองว่า รวดเร็วลัดสั้น
บางพวกจะเอาแต่ศีล บางพวกเอาแต่สมาธิ บางพวกเอาแต่ปัญญา
บางพวกเน้นแต่กาย บางพวกเน้นแต่เวทนา บางพวกเน้นแต่จิต
ไม่เข้าใจปฏิจสมุปบันธรรมในการปฏิบัติที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอันหลากหลายถึงจะบังเกิดผล

ความเมตตากรุณา กลับถูกมองข้าม ละเลย หรือกลับถูกใช้ไปในทางเสริมสร้างตัวตน

แม้ความเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ ก็กลายเป็นไตรลักษณ์ในลักษณะที่มีตัวมีตนอยู่ ไม่สามารถเข้าใจความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนแห่งอนัตตาที่แท้จริงได้

ความหลุดพ้นกลับกลายเป็นสภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่แปลกประหลาด อัศจรรย์ พันลึก ราวกับระเบิดที่เมื่อเกิดระเบิดขึ้น กิเลสก็ราบเรียบเป็นหน้ากองไปชั่วพริบตา แทนที่จะเป็นสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนทะเลที่ลาดลึกลงทีละน้อย

ปฏิจสมุปบาทซึ่งเป็นธรรมที่แสดงถึงความเป็นสุญญตา วางเปล่าจากความเป็นตัวตน ก็ถูกนำมาสอนกันในลักษณะอัตตาไปหมดสิ้น
หรือไม่ ก็ถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญไปเสีย ทั้งๆที่เป็นปากประตูสู่ความหลุดพ้น

การตีความคำสอนของพระพุทธองค์ ก็ถูกตีความไปตามจริตนิสัยแบบโลกๆของตน
ความผิดเพี้ยนจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเกลื่อนกลาด

แท้จริงแล้ว
ความหลุดพ้น คือ การหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นทุกๆสิ่งในโลก
หลุดพ้นจากความเป็นเราของเรา
หลุดพ้นจากทิฐิ
หลุดพ้นจากการหลงยึดมั่นในขันธ์
แจ้งสู่ธรรมชาติเดิมแท้อันว่างเปล่า
ไร้ขอบเขตแห่งความเป็นตัวตนใดๆโดยสิ้นเชิง ไร้บัญญัติ ไม่อาจอธิบายได้ด้วยภาษาหรือคำพูดใดๆ
ไร้ซึ่งการไปการมา การหยุดการอยู่ใดๆอีก

รากเหง้าที่สาคัญของความหลง ก็คือการหลงขันธ์ห้าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่จริงแท้

แต่นักปฏิบัติเรา กลับสอนให้หมายมั่นสภาวะ ยึดติดสภาวะ ยึดติดปรากฏการณ์ ซึ่งทั้งหมดมิใช่อะไรอื่นเลยนอกจากขันธ์
แล้วเช่นนั้น จะหลุดพ้นได้อย่างไร

คุณธรรมของพระพุทธองค์
คุณค่าของพระธรรมที่ทรงมอบไว้
มีค่ามากกว่าสภาวะแห่งรูปนามที่สอนให้หลงยึดกันอยู่มากมายนัก

ขอให้พวกเราชาวพุทธทุกคน
จงช่วยกันศึกษาปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้
อดทนพากเพียรปฏิบัติเพื่อพิสูจน์สัจธรรมที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ดีแล้ว

อย่าได้งมงายไปกับสิ่งอันไร้สาระเหล่านั้นเลย
มิฉะนั้นมันจะกลายเป็นดั่งที่ท่าน กล่าวไว้ว่า
“โอ้!คนเขลา เจ้าหลงว่า น้ำแค่ในลอยเท้าวัวนั้น ยิ่งใหญ่ดุจน้ำในมหาสมุทร”

ขอให้ใจเย็นกับการปฏิบัติ อย่าปฏิบัติด้วยตัณหามุ่งแต่จะเอาผล โดยไม่สนใจสร้างเหตุให้สมบูรณ์ อย่าเดินมรรคแบบมักง่าย สุกเอาเผากิน
ให้ตั้งใจปฏิบัติไปตามขั้นตอน อย่างไม่หยุดยั้ง
และอย่าทิ้งสัมมาทิฐิที่สำคัญ คือ

สัพเพธรรมา อนัตตา
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ล้วนว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน

หากเราปฏิบัติได้ถูกตรงสมบูรณ์ตามสิ่งที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ดีแล้ว
ผลแม้อยู่ไกล ก็จะถึงได้โดยง่าย

แต่หากไม่ถูกตรงแล้ว แม้ภาวนานับหมื่นชม. มันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการหลุดพ้น ตรงกันข้าม หากภาวนาไปด้วยความหลงผิด มันก็กลับจะติดไปเป็นกัปๆ

Comments are closed.