เกลียดตัวเอง

เกลียดตัวเอง

สำหรับผู้ที่เซมาข้างติดดี ยามเมื่อต้องทำบางสิ่ง หรือประสบกับสิ่งที่ตรงข้ามกับความดีที่เราเคยยึดไว้ หรือเห็นข้อผิดพลาด(ความไม่ดี)ของตน ที่ไม่เคยคิดว่าตนจะมี มันก็จะเกิดความทุกข์ เศร้าเสียใจ เกลียดตนเองอยู่เสมอ

ซึ่งเหตุแห่งทุกข์มันก็อยู่ตรงที่ เราเคยทำดีและยึดสิ่งที่เราทำไว้ พอมันเป็นไปในด้านตรงข้าม มันก็ทุกข์ อึดอัด เกลียดตัวเอง

นี่ล่ะ ถึงได้พูดเสมอว่า หากเราทำดีแล้วยึดในทิฐิทั้งสาม คือ
– สิ่งที่ทำนั้นมันดีจริง(ดีแบบคงที่ถาวรไม่อาจแปรเปลี่ยนไม่ว่า สถานการณ์จะเปลี่ยนอย่างไร)
– เราเป็นผู้กระทำความดีนั้น
– เราเป็นผู้ดี เพราะทำดี
มันเป็นเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเรายึดอันใดอันหนึ่งหรือทั้งหมดเช่นนี้ คราวนี้เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยน ทำดีไม่ได้, ทำแล้วไม่มีใครเห็นว่าดี, จำต้องทำในสิ่งตรงข้าม ฯลฯ เราก็จะเป็นทุกข์เผารน ซึ่งก็จะแปรผันตามความยึดที่เรายึดไว้ ยิ่งยึดมากก็ยิ่งทุกข์มากเป็นเท่าทวี เพราะการยึดในทิฐิทั้งสาม เป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งสิ้น มันเป็นคุกที่ขังเราไว้อยู่ในกรอบแห่งความคิดเล็กๆ ของเราเอง

ซึ่งในทางโลก การทำดีเป็นสิ่งดี น่าภาคภูมิใจ น่ายกย่อง แต่นั่นล่ะ หากเราหลงยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นเหตุแห่งทุกข์

การทำดีเป็นสิ่งดี แต่การยึดมั่นถือมั่นเป็นเหตุแห่งทุกข์ หากเราไม่อยากทุกข์ก็ต้องละที่เหตุ

เราถึงต้องฝึกที่จะละวางทิฐิทั้งสามให้ได้ ฝึกตั้งแต่เรื่องหยาบๆ คือ การติดดี ไปจนถึงเรื่องละเอียดภายในอีกมากมาย

ธรรมชาติที่แท้จริงมันไม่มีถูกหรือผิดหรอก มันมีแต่เรื่องของเหตุปัจจัย ความถูกต้องหรือกฎระเบียบต่างๆ มันเป็นกรอบที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้น เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม และเป็นประโยชน์ในสถานการณ์นั้น แต่มันก็แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สถานที่ บุคคล และสังคมอีกเช่นกัน

ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ว่าจะให้เราปฏิเสธความถูกต้องหรือกฎระเบียบทั้งหลาย มันเป็นสิ่งจำเป็นในโลกสังคมปัจจุบันนี้ แต่เราต้องไม่หลงลืมความจริง เพื่อจะได้ไม่ยึดมันมากเกินไป จนทำให้ตนทุกข์

คนเรามันก็มีผิดพลาดกันได้ทั้งสิ้น เมื่อผิดพลาดแล้วก็เรียนรู้ พิจารณาเพื่อการป้องกันแก้ไข หรือหาทางออกที่ดีในครั้งต่อไป
มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องมาทุกข์ร้อน หรือเกลียดตัวเอง นั่นมันเป็นผลพวงแห่งการปรุงแต่งอันมากมายเกินจำเป็น ซึ่งเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นของเราเองทั้งสิ้น

หากเราคิดว่า
เรายังโง่ ยังมีความหลงอยู่มากมาย เรามีโอกาสที่จะทำอะไรผิดพลาดได้ แต่เราจะพยายามเรียนรู้แก้ไขให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ และตั้งใจที่จะไม่กระทำอีก

หากคิดได้เช่นนี้ จิตก็มีช่องให้มันระบายถ่ายเทได้ และขณะเดียวกัน มันก็จะปิดช่องของมารที่จะแทรกแซงเข้ามาทำให้เราทุกข์ด้วย

ลองคิดดูสิ ยามเมื่อเราซ้ำเติมความผิดพลาดด้วยการเกลียดตัวเอง จนทุกข์ เศร้าโศก หดหู่ ท้อถอย
ความทุกข์ที่เรามี มันคุ้มกันมั้ย กับเรื่องที่เราคิดว่าเราได้ทำผิดพลาดลงไป
เผลอๆ บุคคลที่เราทำผิดต่อเขายังไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรด้วยซ้ำ

หากเราสรุปว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นมันผิด ก็ตั้งใจที่จะไม่ทำอีก และหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับครั้งต่อไป นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ในปัจจุบันนี้ จะไปสร้างทุกข์ให้กับตนเองทำไม
แต่ขณะเดียวกัน ก็อย่าลืมตระหนักไว้ให้ดีว่า แม้เราสรุปเช่นนั้น มันก็ไม่แน่ เรายังต้องเรียนรู้ต่อไปอีก

จงจดจำไว้ว่า

การพัฒนาตน คือการขจัดข้อผิดพลาดของตน
มรรค ย่อมเดินคู่ไปบนการแก้ไขข้อผิดพลาดของเราทั้งสิ้น
ยามเมื่อพบข้อผิดพลาด
จงเรียนรู้มัน เราจะเข้าใจสิ่งที่เรายังหลงยึดมั่นถือมั่นอยู่
และตั้งใจที่จะไม่กระทำอีก
พยายามทำสิ่งดีๆ ที่ตรงข้ามกับเหตุและข้อผิดพลาดนั้นให้ยิ่งขึ้น
นี่ล่ะ หนทางสู่ความพ้นทุกข์

Comments are closed.