การแก้ไขข้อผิดพลาดของตน

การแก้ไขข้อผิดพลาดของตน

คนเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสำรวจตรวจสอบข้อผิดพลาดของตน
แก้ไขปรับปรุง และตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่กระทำมันอีก
พร้อมกันนั้น ก็ต้องตั้งใจที่จะทำสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องกว่าทดแทน
เช่นนี้ถึงจะมีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้น เจริญขึ้น สูงขึ้น เบาขึ้น จนเป็นอิสระได้
ซึ่งนี่ล่ะคือ ความหมายของคำว่า ภาวนา

แต่การแก้ไขข้อผิดพลาดและเจริญสิ่งที่ดีทดแทนนั้น
มันไม่ใช่อยู่ในความหมายที่ว่า
ฉันเป็นคนไม่ดี ทำสิ่งไม่ดี ฉันจะแก้ไข ทำสิ่งดีๆ เพื่อให้ฉันได้เป็นคนดี
หากเป็นเช่นนั้น การภาวนาของเราก็จะสะดุดและติดอยู่เพียงขั้นต้นๆ เท่านั้น

ข้อผิดพลาดทั้งหลายที่เราพบในตัวเรา
มันเป็นเครื่องสะท้อนถึงความเป็นตัวตนของเรา
สะท้อนความหลง ที่เรายึดมั่นถือมั่น ที่ทับถมกันอยู่ภายในของเรา

ดังนั้น เมื่อเราพบข้อผิดพลาดของเรา
มันจึงหมายถึง การพบตัวตนของเรา
ซึ่งมันคือโอกาสเดียว ที่เราละรื้อถอน ละวาง ตัวตน และความหลงที่ประกอบตัวตนนั้น

เพราะหากเรายังไม่เห็นข้อผิดพลาดนั้นในตัวเรา
ตัวตนและความหลงนั้น มันก็ยังคงซ่อนเร้นอยู่ในตัวเราเอง
และเป็นเครื่องบงการ หรือกำหนดการกระทำของเราทั้งทางกาย วาจา ใจ
ซึ่งเรียกอีกอย่างก็คือ เครื่องกำหนดภพภูมิของเรานั่นเอง

ดังนั้น เมื่อเราพบข้อผิดพลาด เราจึงต้องเข้าใจว่า
นั่นล่ะ คือ ภพภูมิของเรา
คือ ตัวตนของเรา
คือ การแสดงออกของสิ่งที่จิตหลงยึดและปรุงแต่ง
คือ การแสดงออกของสายสังขารแห่งการเกิดความเป็นเรา
มันเป็นโอกาสอันมีค่ายิ่ง ที่เราจะสามารถรื้อถอนสายสังขารนั้นได้

เราจึงต้องใช้โอกาสนี้ พิจารณาอย่างแยบคาย
แยกแยะมันลงไปเป็นขั้นๆ ให้เห็นว่า
เราหลงยึดอะไร ถึงได้แสดงหรือกระทำข้อผิดพลาดนั้น
แล้วทำไมเราถึงยึดเช่นนั้น
โดยความจริงแล้ว มันยึดไม่ได้อย่างไร
สิ่งที่เรายึดนั้น มันไร้สาระอย่างไร
และที่เราเกิดความหลงยึดอย่างนั้นได้ เพราะเราหลงยึดอะไรอยู่ก่อนหน้านั้น
พิจารณาสาวลงไปเป็นชั้นๆ ของความหลง
แก้ไปที่ละเปราะ จนถึงชั้นในที่สุด เท่าที่เราจะมีปัญญาพิจารณาได้
แล้วนำสัมมาทิฐิที่เราพิจารณาได้นั้นมาประกอบสติ
ตั้งสติปัญญามั่น ยามเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดนั้นอีก
ใช้ปัญญาที่พิจารณามา ตัด ละ วางความหลงที่ปรากฏขึ้น
ทำเช่นนี้บ่อยๆ สติปัญญาเราจะแยบคายขึ้น
ตัด ละ วาง สายสังขารแห่งความหลงได้ไวและลึกขึ้น
มันถึงจะละวางตัวตนของเราได้ในที่สุด

จงอย่าลืมว่า
ข้อผิดพลาด มันคือการปรุงแต่ง
การปรุงแต่ง มันย่อมถูกแต่งเติมจากเหตุปัจจัยอันหลากหลาย และซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ หลายระดับ

ดังนั้น จงอย่าได้มักง่าย มองอะไรเป็นอัตตา
เป็นสิ่งเดียวที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับอะไร
มองในลักษณะที่ว่า
ข้อผิดพลาดนั้น มันคือความไม่ดีอันหนึ่งของฉัน
แล้วฉันก็แก้ไขความไม่ดีนั้น
ทำสิ่งใหม่ที่เป็นความดี
จนในที่สุดฉันก็เปลี่ยนจากคนไม่ดี เป็นคนดี

หากเช่นนั้น เราจะไม่มีทางรื้อถอนตัวตนของเราได้เลย
และจะยิ่งทุกข์มากขึ้น เพราะมีความเข้าใจที่ผิด

Comments are closed.