เราเป็นชาวพุทธแบบไหน?

เราเป็นชาวพุทธแบบไหน?

  1. ผู้สนใจแต่วัตถุภายนอกไม่ว่าจะเป็นตัววัดวา อาราม พระพุทธรูป วิหาร เจดีย์ สิ่งอันรโหฐาน สิ่งที่แปลกประหลาดเหนือธรรมชาติ หรือแม้กระทั่ง รูปลักษณ์และกิริยาภายนอกของบุคคล บุคคลเช่นนี้ยังไม่เรียกว่า นักปฏิบัติ เป็นเพียงชาวพุทธระดับผิวของเปลือกเท่านั้น
  2. ผู้รู้จักทำทาน แต่ทำด้วยความมุ่งหวังที่จะได้อะไรสักอย่างในทางโลก เช่น ให้ร่ำให้รวย, ให้ได้โชคลาภ, ให้พ้นเคราะห์, ให้ไปเกิดบนสวรรค์, ให้ได้ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือหน้าตา ฯลฯ นี่เรียกว่า ผู้ทำทานแค่เพียงเปลือก
  3. ผู้สนใจในคำสอน อ่านและฟังมากมาย แต่ยังไม่นำมาพิจารณาให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งกับประสบการณ์ตรงของตนเอง นี่เรียกว่า ผู้รู้ธรรมแบบจำเขามา
  4. ผู้นำธรรมมาพิจารณาจนเกิดความเข้าใจ แต่ยังไม่เคยนำมาปฏิบัติให้เห็นผลประจักษ์กับตนเอง เรียกว่า ผู้รู้ธรรมแค่เปลือก
  5. ผู้ถือศีล ดำรงตนอยู่ในศีล แค่เพียงเพราะผู้อื่นบอกว่ามันดี ไม่รู้ด้วยเหตุและผลถึงคุณค่าและประโยชน์ของศีลนั้นๆ เรียกว่า ผู้ถือศีลแต่เพียงเปลือก
  6. ผู้ถือศีล ดำรงตนอยู่ในศีล เพราะพิจารณาเห็นแจ้งชัดในคุณค่า เหตุและผลของศีลนั้นๆ เรียกว่า ผู้ถือศีลที่เนื้อใน
  7. ผู้ถือศีล ดำรงตนอยู่ในศีล เพราะพิจารณาเห็นแจ้งชัดในคุณค่า เหตุและผลของศีลนั้นๆ และใช้ศีลเป็นอุบายในการเขย่ากิเลสของตนเพื่อเรียนรู้และละวางกิเลสนั้น เรียกว่า ผู้ถือศีลที่แก่น
  8. ผู้ปฏิบัติอยู่แค่เพียงศีล วินัย คุณธรรม หรือ ศีลธรรมทั้งหลาย โดยไม่ยอมฝึกพัฒนาตนต่อไปในขั้นสมาธิ หลงภูมิใจติดอยู่กับความดีของตน เรียกว่า นักปฏิบัติผู้ติดอยู่แค่เปลือกชั้นนอก
  9. ผู้รักษาศีล เจริญสมาธิ แต่ไม่ยอมพัฒนาปัญญา ติดจมอยู่ในคุณธรรมและความสุขแห่งการปฏิบัตินั้น เรียกว่า นักปฏิบัติผู้ติดอยู่แค่เปลือกชั้นใน
  10. ผู้เจริญศีล สมาธิ ปัญญาจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง แต่ไม่ยอมนำสิ่งเหล่านั้นมาเปลี่ยนแปลงตน เพื่อการดำรงตนที่ถูกต้อง และเรียนรู้พัฒนาปัญญาให้ละเอียดแยบคายยิ่งขึ้น เรียกว่า นักปฏิบัติผู้ติดอยู่ในรสชาติของเนื้อ
  11. ผู้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา จนสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ ละสิ่งมัวหมองและอุปสรรคทั้งหลายของตนได้เกือบหมด แต่ขาดซึ่งความเมตตากรุณา ปลีกตัวอยู่ไม่ยุ่งกับใคร เรียกว่า นักปฏิบัติผู้ยังเข้าไม่ถึงแก่น

ลองพิจารณากันดูเถิดว่า ตนเป็นชาวพุทธแบบใด ยังคงติดอยู่ตรงไหน แล้วตั้งหน้าพัฒนาตัวเองต่อไปจนเป็นผู้ที่ยังประโยชน์ได้สูงสุดทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นได้ในที่สุด

 

เจริญธรรม

อาจารย์หมอ

Comments are closed.