ศรัทธา

ศรัทธา

คำหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธเราแทบจะไม่เข้าใจกันเลย ก็คือ ศรัทธา

คนเรามักรู้จักที่จะกระทำอยู่แค่สองอย่างคือ ปักใจเชื่อ และปักใจปฏิเสธ

หากสิ่งที่เรารับรู้มันเข้ากันได้กับความคิดเห็นของเรา เข้าได้กับสิ่งที่เราชอบ เข้ากันได้กับเหตุผลที่เราใคร่ครวญ เราก็ปักใจเชื่อ ซึ่งจะเรียกให้ถูก ก็ต้องเรียกว่า งมงาย

และหากสิ่งที่เรารับรู้มันเข้ากันไม่ได้กับความคิดเห็นของเรา เข้ากันไม่ได้กับสิ่งที่เราชอบ เข้าไม่ได้กับเหตุผลของเราที่เรายึดติดอยู่ เราก็ปักใจปฏิเสธ ซึ่งจะเรียกให้ถูก ก็ต้องเรียกว่า ดื้อด้าน

แต่ศรัทธาในทางพุทธศาสนา มันเป็นทางสายกลาง เป็นความอิสระ ไม่ใช่สองสิ่งนี้ และก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ระหว่าง

ศรัทธา คือ การที่เรารับเอาสิ่งที่เรารับรู้นั้นมาใคร่ครวญด้วยเหตุและผล ด้วยใจที่ไม่ลำเอียงหรือมีอคติ ตรวจสอบเปรียบเทียบกับคำผู้รู้ทั้งหลาย เมื่อผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน ก็ยกขึ้นไว้และนำไปปฏิบัติด้วยความอดทนพากเพียรจนเกิดผล มันจึงนอกเหนือความเชื่อและไม่เชื่อ

โลกจะมีอะไรให้เธอปักใจเชื่อหรือปักใจไม่เชื่อเล่า ในเมื่อทุกสิ่งมันแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ หาความแน่นอนอะไรไม่ได้

มันสำคัญว่าสิ่งนั้น ณ ขณะเวลานั้น ณ สถานการณ์เช่นนั้น สำหรับบุคคลนั้นๆ มันจะเกิดประโยชน์หรือไม่ หากมันเป็นประโยชน์ก็เจริญมันให้ยิ่งขึ้น หากมันเป็นโทษก็ละมันซะ

มันก็เท่านั้นเอง

Comments are closed.