พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการฝึกตน

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการฝึกตน

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการฝึกตน

พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาของการอ้อนวอนขอ
พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราพึ่งพิงสิ่งอื่นหรือผู้อื่น โดยไม่ยอมแก้ไข ปรับปรุงที่ตัวเราเอง

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล
เป็นศาสนาแห่งการกระทำ ทั้งภายนอกและภายใน
การกระทำด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาตน เพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น

เมื่อสร้างเหตุที่ดี ย่อมได้ผลที่ดีตามมา
แต่หากสร้างเหตุที่ไม่ดี จะได้ผลที่ดีไปได้อย่างไร

คนเราเกิดมาพร้อมความทุกข์
ทุกข์เพราะความหลงยึดมั่นถือมั่นในความมีอยู่ของขันธ์
จนหมายมั่นขันธ์โดยความเป็นตัวเราของเรา

เราจึงต้องฝึกตนพัฒนาตนเสียใหม่ เพื่อจะได้ดับเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
ฝึก เพื่อการปลด การปล่อย การวางในสิ่งที่เรายึดมั่น
จนสามารถดำรงตนเป็นอิสระ และเป็นประโยชน์แก่โลกได้ต่อไป

พุทธศาสนาไม่ได้สอนเพื่อการอยากได้ ดี มี เป็น
ไม่ว่าจะเป็นโชค ลาภ ชื่อเสียง เกียรติยศ ความสุข ความเก่งกาจ ความรู้ ความสามารถพิเศษเหนือธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งได้นิพพาน
เพราะนั่น ล้วนเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งสิ้น

บุญกุศล คือ เบา คือ จิตที่เบา อิสระ ไร้เครื่องหนักหน่วงผูกพัน

เราฝึกเจริญ ทาน เพื่อปลดวางความหนักอันเกิดจากการยึดติดในวัตถุ และสิ่งภายนอกโดยความเป็นของตน

ศีล เพื่อปลดวางความหนัก อันเกิดจากความวุ่นวายภายนอกของโลก

สมาธิ เพื่อปลดวางความหนัก อันเกิดจากความวุ่นวายของจิตภายใน

ปัญญา ก็เพื่อปลดวางความหนักอันละเอียดภายในที่เกิดจากความหลงทั้งหลายอันนำไปสู่ความยึดมั่นถือมั่น

และเมตตากรุณา ก็เพื่อสลายความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงที่ยังคงเหลืออยู่ภายใน และเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ต่อไป

ดังนั้นในฐานะชาวพุทธ เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้อง

  1. ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์ อันเกี่ยวกับความจริงพื้นฐานและวิธีการปฏิบัติ
  2. นำความรู้ที่เข้าใจนั้นมาลงมือศึกษาและปฏิบัติกับของจริง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงกับตัวเราเอง
  3. นำสิ่งที่เรารู้แจ้งจากประสบการณ์จริงของตนนั้น มาเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อปลดวางเครื่องหนักทั้งหลายไปทีละขั้นจนถึงที่สุด
  4. ใช้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ปฏิบัติที่บรรลุผลแล้ว ไปช่วยเหลือผู้อื่น และนำทางผู้อื่นให้ไปสู่เป้าหมายต่อไป

ดังนั้น อย่าได้มัวประมาทนอนใจอยู่เลย
อย่ามัวติดจมอยู่กับสิ่งลวงหลอกภายนอก

คุณธรรมอันล้ำค่าของพระพุทธศาสนานั้นละเอียดอ่อนและลึกซึ้งยิ่งนัก
มันต้องอาศัยศรัทธา ความเพียร และขันติอย่างมาก เพื่อบรรลุสู่เป้าหมาย
มันไม่สามารถบรรลุผลใดๆ ได้จากการอ้อนวอนขอ
หรือแค่เพียงจากการอ่าน การฟัง การจำมาจากผู้อื่น

แม้เรารู้จำได้มากมาย แต่ไม่สามารถปลดวางของหนักที่มีอยู่ในใจของเรา
ก็มิอาจเปรียบได้กับ ผู้ที่รู้เพียงน้อยนิด แต่สามารถนำธรรมนั้นไปปฏิบัติจนบรรลุผล

ดังนั้นการศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนา จึงต้องเน้นที่การศึกษาปฏิบัติ และนำมาเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเอง ซึ่งท่านเรียกว่า การภาวนา

การภาวนาจึงไม่ใช่แค่การท่องบ่น หรือนั่งหลับตานิ่งๆ อยู่เฉยๆ
แต่การภาวนาเป็นกระบวนการทั้งหมดในการพัฒนาตน เปลี่ยนแปลงตน แก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหลายในตน
จนตนไม่ทุกข์อีกต่อไป และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อื่นได้

ความรู้ทั้งหลายมากมายที่เราศึกษามา
จึงควรต้องถูกนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดผล

เพราะความรู้ใดไม่ทำให้เกิดประโยชน์ ความรู้นั้นไม่ใช่สิ่งที่เรารู้จริง

เราจึงต้องขยันหมั่นเพียรพัฒนาตนให้ยิ่งขึ้นไปตามลำดับขั้น
อย่าให้เข้าทำนอง

ความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด

Comments are closed.